เปิดประวัติ กัญจนา ศิลปอาชา “หนูนา” ในวันคัมแบ็ค เป็นคณะที่ปรึกษา รมต.พม.

18 ก.ย. 2566 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 12:27 น.
1.3 k

ชื่อของ “กัญจนา ศิลปอาชา” เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ตำแหน่งของเธอคือ ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ

  

กัญจนา ศิลปอาชา ยังคงทำตามคำพูดที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่ออยู่เสมอ คือ พร้อมจะเป็นลมใต้ปีกให้กับน้องชาย นายวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในวันนี้ กัญจนา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยินดีที่จะมาเป็น ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาฯ ให้กับน้องชาย ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ หลายคนอาจไม่รู้ว่า ตำแหน่งนี้เธอเคยเป็นมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อในอดีต 

สำหรับ ประวัติของกัญจนา ศิลปอาชา (ชื่อเล่น นา ,หนูนา) นั้น ไม่เคยห่างไกลจากแวดวงการเมืองเลย แม้เจ้าตัวจะบอกเองว่า บุคลิกส่วนตัวไม่ค่อยจะเหมาะกับการเป็นนักการเมือง เป็นคนที่คิดอย่างไร พูดอย่างนั้น ไม่ค่อยชอบออกสังคม ชอบอยู่อย่างสงบ แต่เนื่องจากเกิดและเติบโตในครอบครัวนักการเมือง ทำให้เธอกลายเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นของครอบครัวศิลปอาชา ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กัญจนาเกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันอายุ 63 ปี เป็นบุตรีคนโตของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี (ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539) และคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา โดยเธอเป็นพี่คนโตของน้องสาวและน้องชาย  คือ

  • ภัคณีรัศ (ยุ้ย) ศิลปอาชา (เดิมชื่อปาริชาติ)
  • และวราวุธ ศิลปอาชา (ท็อป)

กัญจนา ศิลปอาชา พร้อมเป็นลมใต้ปีกให้น้องชายเสมอ

ประวัติด้านการศึกษา เธอจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปศึกษาต่อปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว กัญจนาเริ่มทำงานกับบริษัทเอกชนมาก่อน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในช่วงปี พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2528 ก่อนที่จะได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามออกซี่ จำกัด (พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2538) นอกจากนี้ ยังเป็นประธานกรรมการบริษัทสยามอ็อกซิเดนทอล อิเลคโตรเคมีคอล

ต่อมาในปี 2538 กัญจนาตัดสินใจเข้าสู่งานบนเส้นทางการเมืองเป็นครั้งแรกตามรอยบิดาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย เมื่อทางพรรคหาผู้สมัครลงที่จังหวัดสุพรรณบุรีไม่ได้ เธอจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสนามแรกในปีนั้น และได้รับเลือกตั้งเข้าทำหน้าที่ สส.ในสภา ตั้งแต่นั้นมาก็ได้รับเลือกตั้งทุกครั้งที่ลงสมัคร คือในปี 2539, 2544 และ 2548

ปี พ.ศ. 2542 กัญจนา ศิลปอาชา ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กัญจนาลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2538 และได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2542 ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

บนเส้นทางการทำงานการเมือง กัญจนา หรือ สส. หนูนา ผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลายกระทรวง โดยนอกจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว เธอยังเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงอื่นๆ ดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2544 กัญจนาได้รับตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)
  • ปี พ.ศ. 2545 เธอได้เป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ครั้งแรกในยุคของรัฐมนตรี อนุรักษ์ จุรีมาศ (สังกัดพรรคชาติไทย) โดยในปีนั้น เพิ่งมีการจัดตั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม.คนแรกของประเทศไทย
  • จากนั้นในปี พ.ศ. 2546 มีการปรับรัฐมนตรีอนุรักษ์ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กัญจนาจึงได้ไปเป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2551 เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคชาติไทยถูกตัดสินยุบพรรค(พร้อมกับอีกสองพรรค คือ พรรคพลังประชาชานและพรรคมัชฌิมาธิปไตย) ด้วยข้อกล่าวหากระทำการที่เข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค จำนวน 109 คน ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นั่นหมายรวมถึงกัญจนา ในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคชาติไทย จึงถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปด้วย

เธอกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2557 กัญจนาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 2

ในวัย 63 ปี ยังคงแอคทีฟทางการเมือง (ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊กพรรคชาติไทยพัฒนา)

ปัจจุบัน นอกจากงานด้านการเมืองแล้ว กัญจนายังทำงานอย่างแข็งขันเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทย และมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันการนำช้างไทย คือพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับบ้านเกิดเมืองนอนในสมัยที่นายวราวุธ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีส่วนดูแลเรื่องการอนุรักษ์ช้างอยู่แล้ว

ส่วนงานของคณะที่ปรึกษาฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งล่าสุดนี้ มีหน้าที่ให้คำที่ปรึกษา ข้อเสนอแนะ แสวงหาข้อมูลประสานงานในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และกองทุนในสังกัดและกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย