พปชร. ข้องใจ รัฐมนตรี รทสช. อุ้มนายทุนพลังงานไม่จบ

17 ก.ย. 2566 | 20:17 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2566 | 20:33 น.

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ข้องใจนโยบายรัฐมนตรีพลังงาน อุ้มนายทุนไม่หยุด ใช้ฐานะปธ.วิชาการ พปชร. วิพากษ์การทำงาน พร้อมแนะ 3 ข้อ วัดความจริงใจ แก้ปัญหาพลังงานให้ประชาชน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ตั้งคำถามต่อการดำเนินนโยบายลดราคาพลังงานของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าเป็นการอุ้มนายทุนอย่างไม่จบสิ้น

โดยระบุว่า 14 กันยายน 2566 กบง. ได้มีมติคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือนถึงสิ้นปี 2566นั้น เป็นการอุ้มกลุ่มนายทุนเรื่องก๊าซหุงต้ม LPG อีกเช่นเดิม เหมือนครั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากเป็นนโยบายที่ใช้เงินของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ตัวเอง และมีผลเป็นการอุ้มกลุ่มนายทุนโดยปริยาย

พร้อมแนะนำ 3 ข้อ แก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม LPG หากรมต.พลังงาน ต้องการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนอย่างจริงใจ มีประชาชนอยู่ในหัวใจ แทนกลุ่มนายทุน 

ข้อที่ 1 ต้องจัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยให้ประชาชนก่อน มิใช่ให้แก่ภาคธุรกิจก่อน เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของก๊าซจากอ่าวไทย จึงต้องให้สิทธิประชาชนใช้ก่อนภาคธุรกิจ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคปิโตรเคมี ให้ไปยืนเข้าคิว LPG จากโรงกลั่นในลำดับต่อจากครัวเรือน

โดยก๊าซจากอ่าวไทยมีต้นทุนถูกกว่าก๊าซนำเข้ามาก ภาคครัวเรือนใช้ LPG วันละ 5.6 ล้านกิโลกรัม พอเพียงจากการผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซวันละ 5.9 ล้านกิโลกรัม และ LPG ส่วนที่นำเข้า

ถ้าใช้มาตรการนี้ โดยคิดราคาหน้าโรงแยกก๊าซปัจจุบันที่ 498 ดอลล่าร์ต่อตัน ราคาขายปลีก LPG จะลดลงได้อีกประมาณ 52 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยไม่ต้องควักกระเป๋าจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน

ข้อที่ 2 ต้องยกเลิกการอิงราคาตลาดโลกสำหรับครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกเพดานราคาที่ขายแก่ครัวเรือน เป็นสาเหตุที่ราคาก๊าซที่ขายแก่ครัวเรือนแพงขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะเปลี่ยนไปอ้างอิงราคาตลาดโลกบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า

ประชาชนเป็นเจ้าของก๊าซจากอ่าวไทย จึงต้องเปลี่ยนปรับไปใช้ราคาควบคุมที่เหมาะสมหน้าโรงแยกก๊าซ โดยอ้างอิงต้นทุนแหล่งก๊าซจากอ่าวไทยเท่านั้น โดยกำหนดราคาสำหรับครัวเรือนไม่เกิน 333 ดอลลาร์ต่อตัน ราคาขายปลีก LPG จะลดลงได้อีกประมาณ 139 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยไม่ต้องควักกระเป๋าจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน

ข้อที่ 3 ยกเลิกอภิสิทธิ์สำหรับปิโตรเคมี ที่ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อแก้ปัญหากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาระภาษีสรรพสามิต โดยภาคปิโตรเคมี ใช้ LPG สูงสุด 46% รองลงมาเป็นภาคครัวเรือน 30% ,ภาคขนส่ง 14% และภาคอุตสาหกรรม 10%

รัฐบาลของนายเศรษฐา จึงควรเรียกให้ภาคปิโตรเคมีช่วยลดหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยสั่งเก็บเข้ากองทุน 1 บาท/ กก. ซึ่งจะได้เงินเข้ากองทุนประมาณปีละ 3,100 ล้านบาท จะช่วยแก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันติดลบได้อย่างรวดเร็ว และต้องให้ภาคปิโตรเคมีจ่ายภาษีสรรพสามิตตามปกติด้วย เพราะภาคปิโตรเคมีที่ได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตมาหลายปี

ทั้งนี้ มติ กบง. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 เห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กันยายน 2566 ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม

เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

รวมถึงให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ให้เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ต่อไปอีก 3 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566