"จตุพร"จวก"เศรษฐา"แถลงนโยบายแหกตา-ไม่ตรงปกตามที่หาเสียง

12 ก.ย. 2566 | 09:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 09:20 น.

"จตุพร"จวก"เศรษฐา"แถลงนโยบายแหกตา-ไม่ตรงปกตามที่หาเสียง ชี้เพื่อไทยทำผิดตั้งแต่การหาเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล ระบุการอธิบายก็เป็นคนละความหมาย เมื่อเป็นแบบนี้จะไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เปิดเผยผ่านรายการประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “แหกตา” ว่า หลายนโยบายรัฐบาลตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงต่อรัฐสภานั้น มีความแตกต่างจากที่เคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จึงสะท้อนถึงนโยบายแหกตาประชาชน เพราะไม่ตรงปกตามที่ประกาศไว้

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รวบรวมนโยบายที่พรรคเพื่อไทยรับปากประชาชนไว้ช่วงหาเสียง แต่เมื่อแถลงนโยบายรัฐบาลกลับไม่ทำตามสัญญา โดยหลายนโยบายสำคัญเขียนไม่ชัดเจน ขาดเป้าหมายการก่อประโยชน์ให้ประชนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยศิริกัญญา สรุปนโยบายรัฐบาลไม่ตรงปกตามที่ประกาศหาเสียงไว้ เช่น ช่วงหาเสียงจะพักหนี้เกษตรกร 3 ปีมีรายได้เพิ่ม 3 เท่า แต่เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลกลับเขียนเป็นพักหนี้เกษตรกรตามความเหมาะสมและมีรายได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับขาดความชัดเจน ประชาชนย่อมหวังได้ยากยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บ.ต่อวัน และปริญญาตรีได้เงินเดือน 25,000 บาท ส่วนนโยบายรัฐบาลระบุไว้อย่างเป็นนามธรรมว่า ค่าแรงขึ้นและปริญญาตรีได้เงินเดือนอย่างเป็นธรรมเท่านั้น

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังหาเสียงไว้จะลดความเหลื่อมล้ำ โดยทุกครัวเรือนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท แต่ในนโยบายรัฐบาลเขียนไว้แค่ทุกครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น อีกทั้งรับปากประชาชนจะลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มทันที แต่บรรจุว้ในนโยบายรัฐบาลว่า บริหารจัดการในระดับที่เหมาะสม ส่วนนโยบายหาเสียงลดค่ารถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสายกลับไม่บรรจุในนโยบายรัฐบาลเลย เป็นต้น

“สิ่งนี้เป็นปฏิบัติการแหกตาประชาชน โดยแหกตั้งแต่หาเสียงว่า ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลไม่จับมือกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ จะปิดสวิตซ์ สว. กับ 3 ป. พร้อมขยายคำพูดว่า จะไปจับมือคนที่เอาปืนมายึดอำนาจตัวเองได้อย่างไร พร้อมเน้นสัญญามีลุง ไม่มีผม แล้ว สว.ที่ตัวเองจะปิดสวิตซ์ได้มาโหวตให้เท่ากับเป็นการส่งมอบมรดกนายกฯ ให้นายเศรษฐา”

นายจตุพร กล่าวอีกว่า เพื่อไทยทำผิดตั้งแต่การหาเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล เมื่อนโยบายรัฐบาลเป็นการใช้คำที่แตกต่างกับสัญญาที่หาเสียงกับประชาชนไว้ อีกทั้งการอธิบายก็เป็นคนละความหมาย เมื่อเป็นแบบนี้จะไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไรกัน ซึ่งประชาชนคงได้เห็นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตตามที่ประกาศหาเสียงต้องการให้ทำที โดยตนหวาดหวั่นจะไม่ทำตามประกาศไว้ เพราะแค่ภาษาเขียนยังทุจริตในนโยบายของรัฐแล้ว โดยตัวหนังสือที่ใช้จึงฟ้องถึงการหาเสียงเป็นการหลอกลวงกันทั้งสิ้น

“ตอนหาเสียงนั้น ประกาศว่า มีอยู่พรรคเดียวที่คิดใหญ่ ทำเป็น แล้วกลับมาทำเล็ก ย่อนโยบายรัฐบาลหมดจึงไม่เหลือตามที่รับปากไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น โครงการอะไรก็ตามถ้าประชาชนได้ประโยชน์จะไม่มีปัญหาเลย แต่เกรงจะเกิดการทุจริตเหมือนการรับจำนำข้าวที่เกิดประโยชน์ทับซ้อน ชาวบ้านได้เพียงเศษเงิน ส่วนตัวการได้ไปอย่างมโหฬาร”

นายจตุพร กล่าวต่ออีกว่า ใครคิดทุจริตฉ้อฉล อย่ามาเอากับโครงการคนจนที่ยากลำบาก เพราะโครงการที่รัฐบาลทำให้ประชาชนจะเป็นความหวังเดียวของประชาชน หากคนจนล้มย่อมฟื้นได้ยาก ดังนั้น เมื่อห้ามการทุจริตไม่ได้ ก็ขออย่าไปคิดโกงของคนจนเลย อย่าซ้ำเติมความทุกข์ของคนจนอีกเลย