“มาดามเดียร์”ลั่นถึงเวลา“ปชป.”ประกาศจุดยืนฝ่ายค้าน ก่อนตั้งครม.ใหม่

24 ส.ค. 2566 | 19:03 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2566 | 19:11 น.

“มาดามเดียร์”ลั่นถึงเวลา ปชป. ประกาศจุดยืนฝ่ายค้าน ก่อนตั้งครม.ใหม่ ยันหลักการอยู่ข้างประชาชน ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เดียร์ วทันยา บุนนาค” เพื่อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนเป็นฝ่ายค้านอย่างสมศักดิ์ศรีก่อนจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่องผลโหวตนายกรัฐมนตรีที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีทิศทางที่แตกต่างและไม่มีเอกภาพ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องชัดเจน ประกาศจุดยืนฝ่ายค้านอย่างมีศักดิ์ศรีก่อนจัดตั้งครม.ชุดใหม่

แม้ผลการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางท่านในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้สร้างความเคลือบแคลงใจ และไม่สบายใจให้แก่สมาชิกพรรคและสังคม แต่เดียร์ยังคงเชื่อมั่นว่าเป็นเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้นของ ส.ส. ในพรรคประชาธิปัตย์  

ดังนั้น เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่สมาชิก และประชาชนที่ติดตามการทำงานของพรรค จึงเห็นว่า ส.ส. และคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ควรออกมา ประกาศจุดยืนการเป็นฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ ให้ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องรอการจัดตั้ง ครม. ให้เสร็จสิ้น เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรค ที่พร้อมทำงานในฐานะตัวแทนประชาชนโดยไม่ยึดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและเพื่อพวกพ้องเป็นที่ตั้ง 

ทั้งนี้เดียร์ยังคงเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน สมาชิกสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการทำงานของพรรคอย่างแท้จริง 

อีกทางหนึ่งคือ เครื่องบ่งชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนอยู่บนกลไกความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรสาธารณะ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน ภาคสังคม และสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ไม่ปิดกั้นโอกาสทางความคิด 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เสรีภาพในการทำงาน ที่ต้องการพลังความคิดที่หลากหลาย แต่องค์กรจะเดินไปได้อย่างเข้มแข็ง ย่อมต้องเดินเคียงคู่กับความเป็นเอกภาพของสมาชิกภายใน และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องมี “กติกา” ที่เรียกว่า “มติพรรค” เพื่อให้สมาชิกสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยหลักการเคารพเสียงข้างมาก แต่ไม่ละเลยมองข้ามเสียงข้างน้อย สร้างให้พรรคเป็นพื้นที่ของคนทุกคน ดังนั้นไม่ว่ามติพรรคออกมาเป็นอย่างไรสมาชิกก็พร้อมน้อมรับผลลัพธ์ร่วมกันเพราะเกิดจากการตัดสินใจร่วมกัน

การกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามมติพรรค จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้เอกสิทธิ์โดยสุจริต ด้วยการยึดหลักยืนเคียงข้างประชาชน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม”