ส.ว.ประภาศรี เผยโหวตเลือกนายกฯ หลักการกับความรู้สึกเลือกอะไรดี

21 ส.ค. 2566 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2566 | 11:42 น.

"ส.ว.ประภาศรี สุฉันทบุตร" โพสต์ถามหาคำตอบจากประชาชนด้วยกัน 2 ข้อ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นี้ ระหว่าง หลักการ กับ ความรู้สึกควรจะเลือกอะไรดี

ถ้าจำกันได้ นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ส.ว. เคยโหวตเห็นชอบให้ นายพิธาลิ้ม เจิรญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

ล่าสุดวันนี้ 21 สิงหาคม 2566  นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ถามประชาชนหลักการ กับ ความรู้สึกจะเลือกอะไรดี เนื่องจากในวันที่ 22 สค 2566 จะเป็นวันที่สำคัญมาก คือวันเลือกนายกรัฐมนตรี ดิฉันมีข้อปรึกษาหารือประชาชนของดิฉัน สองเรื่องค่ะ

1. ในระบอบประชาธิปไตยเราต้องเลือกเสียงข้างมากใช่ไหมคะ คราวที่เเล้วดิฉันเลือกคุณพิธาเพราะได้เสียงข้างมากมา เป็นมารยาทที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลก่อน เเต่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะรวมเสียงข้างมากที่ได้มา 8 พรรคเเล้ว เเต่ยังต้องการเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาอีก 64 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญต้องให้ได้ 375 เสียง เเต่ไม่สามารถรวมเสียงได้ครบ

พรรคก้าวไกลจึงส่งผ่านการจัดตั้งรัฐบาลมาให้พรรคเพื่อไทย ขณะนี้พรรคเพื่อไทยรวมเสียงจากหลายพรรค ซึ่งได้เป็นเสียง

ข้างมากเเล้ว เเละหาเสียงจาก สว.อีกไม่มาก ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ เเละส่งคุณเศรษฐา ทวีสิน เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ดิฉันก็สนับสนุนคุณเศรษฐา นะคะ เเม้ว่าจะมีการออกมากล่าวหาบ้าง เเต่ดิฉันถือว่าการกล่าวหานั้นไม่ได้เกี่ยวกับการตัดสินใจของดิฉัน เพราะไม่ใช่หน้าที่ของดิฉันที่จะไปตัดสินว่าคุณเศรษฐาผิดหรือถูก เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ตัดสิน เช่นเรื่องการโอนที่ดินการเสียภาษีก็ต้องเป็นกรมที่ดินเเละกรมสรรพากรเป็นผู้ตัดสิน เเละเรื่องการซื้อขายที่ดินของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องให้ตลาดหลักทรัพย์เข้ามาจัดการ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณเศรษฐาด้วย

ดังนั้นในตอนเเรกดิฉันตั้งใจว่าจะ "เห็นชอบ" คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเเน่นอน เพราะได้ติดตามวิสัยทัศน์ตอนรณรงค์หาเสียง ดิฉันคิดว่าคุณเศรษฐาสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างามได้ เเละที่สำคัญประชาชนเลือกพรรคที่เสนอคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีมา ดังนั้นเราต้องถือว่าเสียงของประชาชนมีความหมายเราจะต้องไม่ละเมิดเสียงของประชาชนเเม้เเต่เสียงเดียว

แต่ว่ามีข้อ  2 ที่สำคัญมาก มาเป็นเหตุที่ต้องพิจารณาอย่างมากทีเดียว

2. ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากประชาชนจากไลน์ จาก Inbox จากการมาพูดคุย เเละจากช่องทางต่างๆ บอกว่า ดิฉันเคยฟังประชาชนมาตลอดอยู่เคียงข้างประชาชนมาตลอด ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ประชาชนชาวยโสธร เเละประชาชนที่อื่นๆที่ศรัทธาดิฉัน ขอให้ดิฉันฟังเเละเชื่อเค้าด้วย

คือประชาชนจำนวนมากรู้สึกผิดหวังเเละเจ็บปวดพรรคเเกนนำในการจัดตั้้งรัฐบาลครั้งใหม่นี้ ว่าไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงว่า จะไม่รวมกับพรรคโน้นพรรคนี้ ประชาชนผิดหวังมาก เพราะเค้ารักพรรคที่่สองนี้พอๆ กับก้าวไกลเหมือนกัน เเละเค้าสงสารก้าวไกล พรรคเเห่งความหวังของเค้าว่า ทำไมถูกทอดทิ้ง ทำไมไม่ผูกมัดติดกันไว้ อดทนไว้ พรรคอื่นก็อาจจะมาเติมเสียงให้เต็มเอง หรือทำไมไม่ช่วยก้าวไกลในการหาเสียงจาก สว.

ประชาชนรู้สึกว่าถ้าพรรคเเกนนำช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่ก็จะต้องได้เสียง สว.มา ประชาชนบอกว่าเค้าจำภาพตอนจับมือกันตอน MOU อย่างไม่ลืมเลือน เค้าเจ็บปวดมาก เค้ายังนึกถึงบรรยากาศตอนคุณพิธาถูกหยุดให้ปฏิบัติหน้าที่ สส.

ประชาชนหลายคนร้องไห้เเละรู้สึกเงียบเหงาเเละเศร้าใจเครียดกันมาก

ดิฉันค่อนข้างเครียดเมื่อรับฟังความรู้สึกของประชาชน สมัยนี้คนสนใจการเมืองกันมาก เค้าคิดไปไกลกว่าดิฉันอีก เค้าบอกว่าเสียงรัฐบาลที่มารวมกัน มีมากกว่าเสียงที่จะเป็นฝ่ายค้านมากเกินไป อาจจะเกิดเผด็จการรัฐสภาได้ ฝ่ายค้านอาจจะตรวจสอบเก่งก็จริง เเต่หากเรื่องใดจำเป็นต้อง Vote ก็จะเเพ้ทุกครั้งไป

ประชาชนบอกกับดิฉันว่าให้ "ไม่เห็นชอบ"

ทุกคนอยากให้ดิฉันเป็นความหวัง ให้สู้เพื่อพวกเค้า

ดิฉันเครียดมาหลายวันว่า ระหว่าง"หลักการ" ที่ดิฉันยึดมั่นเสมอมา กับความรู้สึกท้อเเท้เจ็บปวด ของประชาชนของดิฉัน

ดิฉันควรยืนอยู่บนหลักการของดิฉัน หรือเลือกร่วมเจ็บปวดไปกับเค้าด้วย

ดิฉันควรจะเลือก "ไม่เห็นชอบ" หรือ สุภาพหน่อย ก็ "งดออกเสียง" ตามความต้องการของประชาชนของดิฉันหรือไม่ หรือ "เห็นชอบ" ตามหลักการที่เค้ารวมเสียงข้างมากได้

ท่านที่ผ่านมากรุณาให้ความคิดเห็นกับดิฉันด้วย เพื่อดิฉันจะได้นำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

ขอขอบคุณมากๆนะคะ.