"ก้าวไกล"ค้านปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ จ่อยื่นร่างกม.บำนาญถ้วนหน้า

17 ส.ค. 2566 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 15:24 น.

"ก้าวไกล" ค้านระเบียบมหาดไทยปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ชี้ทำให้สวัสดิการกลายเป็นระบบสงเคราะห์ เตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ. บำนาญถ้วนหน้า ประชาชนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องพิสูจน์ความจน

วันที่ 17 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ แถลงคัดค้านกรณีระเบียบกระทรวงมหาดไทยปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แก้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ย ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

นายเซียกล่าวว่า กรณีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเห็นว่าเป็นการหมุนกงล้อระบบสวัสดิการย้อนกลับ จากที่ไทยควรก้าวไปสู่การมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า กลับไปสู่ระบบสงเคราะห์ ที่ต้องพิสูจน์ความจนให้ได้สิทธิมา

เป็นแนวทางที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่น่าให้อภัย และไม่น่าเกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ที่ให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม

ปัญหาและข้อกังวลต่อกฎเกณฑ์จากระเบียบฉบับนี้ มีการประเมินกันว่าจะมีผู้สูงอายุที่หลุดออกจากระบบ ไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 6 ล้านคน เพราะที่ผ่านมาฐานข้อมูลของบัตรคนจนมีปัญหาความไม่เที่ยงตรง มีคนจนประมาณ 46% ที่ไม่ได้บัตรรับบัตรดังกล่าว

ดังนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องมีการให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ต้องมาเสียเวลาพิสูจน์ความจนเพื่อจะรับเงิน 600 บาท หรือหากคิดรายวัน ประมาณ 20 บาทต่อวันเท่านั้น

"ก้าวไกล"ค้านปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ จ่อยื่นร่างกม.บำนาญถ้วนหน้า

พรรคก้าวไกลขอคัดค้านการออกระเบียบดังกล่าว และขอยืนยันในสิ่งที่เราได้หาเสียงไว้ คือการสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าซึ่งได้มีการพิสูจน์มาแล้วหลายที่ในโลกว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่าสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้มีราคาแพง ไม่เป็นภาระงบประมาณ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้โดยตรง 


 

นายเซียกล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลเตรียมยื่น ร่าง พ.ร.บ.บำนาญถ้วนหน้า โดยมาตรา 5 ของร่างฉบับนี้ จะระบุให้บุคคลทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องได้รับบำนาญแห่งชาติโดยไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุที่ได้รับบำนาญตามกฎหมายอื่นหรือตามมติคณะรัฐมนตรี และจะต้องมีการกำหนดอัตราบำนาญแห่งชาติใหม่ทุก 3 ปี

รวมถึงทุกคนต้องได้รับบำนาญต่อเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือตามที่พรรคก้าวไกลเคยหาเสียงไว้ คือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หากมีการปรับเส้นความยากจน เงินบำนาญนี้ก็ต้องปรับขึ้นด้วยเช่นเกัน

"พรรคก้าวไกลเห็นว่าการยื่นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นก้าวแรกสู่สวัสดิการถ้วนหน้า และประเทศไทยจะเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ ด้วยการมี Universal basic income ให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องพิสูจน์ความจนอีกต่อไป" เซียกล่าว