ชะตากรรม“พิธา”ในอุ้งมือศาลรัฐธรรมนูญ

12 ก.ค. 2566 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 15:34 น.

ชะตากรรม “พิธา” เจอ 2 อุปสรรคสำคัญ ปมถือหุ้นสื่อไอทีวี และ กรณีข้อกล่าวหามีนโยบายแก้ไข-ยกเลิก ม.112 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองหรือไม่ เหตุมีโทษหนักพ้น ส.ส. คุก ยุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีเหลืออยู่ 5 คน อันประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และกรรมการอีก 4 คน คือ นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, นายปกรณ์ มหรรณพ, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ 

ได้เดินหน้าประชุมพิจารณาคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006  ได้ร้องขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบ กรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) หรือไม่

ในกรณีที่ กกต.เห็นว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 
การประชุมของ “5 อรหันต์ กกต.” มีขึ้นแล้ว 2 ครั้ง คือวันที่ 10 และ 11 ก.ค.2566 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ โดยจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 ก.ค.2566 

จนกระทั่งล่าสุด วันนี้(12 ก.ค. 66) กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ 5 เสียง เห็นว่าสมาชิกภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 ( 6 ) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

สำหรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อคำร้องและหลักฐานมาถึงสำนักงานศาลฯ แล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารประกอบคำร้อง ว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากพบว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ครบถ้วนตามระเบียบของศาลฯ จะต้องขอเอกสารเพิ่มเติมจาก กกต.  

แต่ถ้าเอกสารครบแล้วก็จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตรวจสอบอีกครั้งและหากมีมติเห็นควรรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่

ทั้งนี้ ในการพิจารณากรณีคุณสมบัติ ส.ส. ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ก็จะพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงตามคำร้อง หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจริง ก็จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน รวมทั้งอาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับอนาคตทางการเมืองของ นายพิธา นั้น ขณะนี้มีอย่างน้อย 2 ด่านสำคัญ ที่ต้องเผชิญ และเป็นตัวชี้ชะตา คือ

1. กรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติส่งกรณีมีผู้ร้องเรียนขอให้พิจารณา และส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และต้องขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ กรณีถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้อง ก็ต้องมาลุ้นว่าศาลจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคิวประชุมครั้งถัดไปสัปดาห์หน้า คือวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันที่รัฐสภาได้กำหนดประชุมโหวตเลือกนายกฯ เป็นวันที่ 2 

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ระบุว่า แคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี โดยจะโยงกับมาตรา 98 คือ คุณสมบัติของการเป็น ส.ส. 

นั่นหมายความว่า แคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 นั่นคือ ห้ามถือหุ้นในกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสารมวลชน …คดีนี้มีโทษถึงขั้นพ้นเก้าอี้ ส.ส. ตัดสิทธิการเมือง และ จำคุก รออยู่

ด่านที่ 2 คือ กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด (อสส.) ว่ามีคำสั่ง รับหรือไม่รับดำเนินการ ตามที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไข หรือ ยกเลิก มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ในการใช้สิทธิ และเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด(อสส.) ได้ลงนาม ในหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามหนังสือสอบถามไปแล้ว 

กระบวนการต่อไปเป็นการส่งหนังสือเพื่อตอบให้ศาลรัฐธรรมนูญทราบตามระบบราชการ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้เเจ้งผลการดำเนินการ พร้อมเอกสารประกอบเเนบท้าย ลงนามโดย น.ส.นารี อัยการสูงสุด ถึงศาลรัฐธรรมนูญไปเเล้ว ส่วนรายละเอียดหนังสือตอบกลับขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และอัยการก็จะดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป

ต้องรอดูคำตอบของ อสส. ที่ตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นอย่างไร หาก อสส.รับคำร้อง กระบวนการก็จะดำเนินการต่อไป แต่หาก อสส.ไม่รับคำร้อง ก็ไม่กระทบกับกระบวนการที่เดินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ที่สามารถนำไปวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(3) …กรณีนี้มีเสียวถึงขั้น “ยุบพรรคก้าวไกล” เลยทีเดียว

2 ด่านสำคัญรอชี้ชะตา “พิธา” ถ้าผ่านไปได้ ก็ยังมีโอกาสโลดแล่นบนถนนการเมืองได้ต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านอันใดอันหนึ่ง เส้นทางการเมืองก็คงสะดุดหยุดลง ส่วนจะมากน้อยกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับ อสส. และ ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไป