เรืองไกร ชง ป.ป.ช. สอบ "ส.ส.-ส.ว." โหวตนายกฯ ทั้งที่รู้มีลักษณะต้องห้าม

12 ก.ค. 2566 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 12:10 น.

"เรืองไกร"ร้อง ป.ป.ช. ตั้งเรื่องสอบ ส.ส. และ ส.ว.ที่จะโหวตนายกฯ ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 จะเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่

 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตั้งเรื่องตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าจะเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ไต่สวนความผิดตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และต่อมามี ส.ว.บางคน ออกมาเตือนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) อาจจะกระทำมิได้ เพราะจะขัดต่อมาตรา 159 ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตั้งเรื่องตรวจสอบต่อไป ดังนี้

ข้อ 1. การที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “... ดังนั้นการทำหน้าที่ของ ส.ส.และส.ว.จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราร 272 และ ส.ว.และ ส.ส.จะเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ตามมาตรา 159 ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญ

ดังนั้น ส.ส.และ ส.ว.จะต้องเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามคือการถือหุ้นสื่อไอทีวี ดังนั้นการทำหน้าที่ไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นคุณสมบัติที่มีความผิดในตัวของมันเอง ถ้าถือหุ้นสื่อก็ขัดคุณสมบัติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจน การถือหุ้นเป็นเหตุและขัดรัฐธรรมนูญ แต่ความขัดหรือไม่ขัดเกิดขึ้นแล้ว เพราะส.ส.และส.ว.ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159”

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ข้อ 2. การที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า “... ถ้าหาก กกต.มีมติว่า ขาดคุณสมบัติส.ส. และรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นความผิดตาม ม.151 ด้วย”

ข้อ 3. หาก ส.ส.และส.ว. ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 การกระทำนั้นก็อาจมีผลเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ตามมาได้ ซึ่งผลแห่งการกระทำนั้น อาจเข้าข่ายฐานเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ใดมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ตามมาอีกด้วย

ข้อ 4. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 วรรคสาม ประกอบมาตรา 272 วรรคหนึ่ง บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของรัฐสภา

ข้อ 5. ดังนั้น การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้ใดจะกระทำการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า บุคคลมีจะให้ความเห็นชอบนั้น เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

ทั้งนี้ ตามมติ กกต. ที่ให้ดำเนินการตามความในมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ผู้นั้น ย่อมอาจเข้าข่ายมีการกระทำอันฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ข้อ 6.กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ทำการตั้งเรื่องเพื่อตรวจสอบผลแห่งการกระทำที่จะเกิดขึ้นตามมาดังกล่าวข้างต้นว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ว่าจะเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่