สรุปปมร้อน "พิธา"ถือหุ้น"ไอทีวี" ชี้ ชะตา ว่าที่นายกฯคนที่ 30

12 ก.ค. 2566 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 15:21 น.

สรุปปมร้อนการถือหุ้นไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้ชะตา ว่าที่นายกฯคนที่ 30ทั้ง ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย “ไอทีวี” ยังเป็นกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

การถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ “ไอทีวี” ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้น จำนวน 42,000 หุ้น กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา สุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ( 3 )ประกอบมาตรา 101 ( 6 )หรือไม่ รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

 

ข้อเท็จจริงการถือหุ้นไอทีวีของ"พิธา"

ชื่อของนายพิธา ปรากฎอยู่ในบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 2551 โดยนายพิธาชี้แจงว่า หุ้นไอทีวี เป็นหุ้นกองมรดกที่ถือครองแทนทายาทอื่น เมื่อเข้ามาทำงานการเมืองในปี 2562 ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย

นายพิธา ได้แจ้งรายละเอียดการถือหุ้นไอทีวีต่อ ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ ว่า ผู้ยื่นในฐานะผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 ได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรกดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ตาย ให้รับโอนหลักทรัพย์หุ่นนี้อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทอื่น

25 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ได้โอนหุ้นไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ให้กับ นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้เป็นน้องชาย

สรุปปมร้อน \"พิธา\"ถือหุ้น\"ไอทีวี\" ชี้ ชะตา ว่าที่นายกฯคนที่ 30

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นไอทีวี

มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ

มาตรา 101(6) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขอสำนักงานกกต. พิจารณาเห็นว่าการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามของส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ( 3 )ประกอบมาตรา 101 ( 6 ) จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สรุปปมร้อน \"พิธา\"ถือหุ้น\"ไอทีวี\" ชี้ ชะตา ว่าที่นายกฯคนที่ 30

“ไอทีวี” ยังเป็นกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่?

วัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจของ บริษัท ไอทีวี ที่จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตอนจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2541 แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ เกี่ยวข้องกับสื่อ 5 ข้อ โดยไอทีวียังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มวัตถุประสงค์แต่อย่างใดจนถึงปัจจุบัน

ไอทีวี ได้หยุดออกอากาศ หลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหนังสือไปยังบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีวี เพื่อบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) พร้อมให้ระงับการออกอากาศมีผลวันที่ 7 มีนาคม 2550

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุก่อนหน้านี้ว่า สถานะของ บมจ.ไอทีวี ปัจจุบันมีสถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดนิยามไว้ แต่เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่า เป็นนิติบุคคลที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสถานะอื่นใด เช่น จดทะเบียนเลิก พิทักษ์ทรัพย์ ล้มละลาย หรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เป็นต้น

ดังนั้น สถานะ “ยังดำเนินกิจการอยู่” จึงเป็นการบอกว่านิติบุคคลได้ถูกจัดตั้ง และมีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่านิติบุคคลนั้นมีการทำกิจการหรือประกอบกิจการทางการค้าใดในความเป็นจริงอยู่หรือไม่ หากมีการประกอบกิจการในลักษณะใดจะแสดงข้อมูลผลการดำเนินการและฐานะการเงินในงบการเงินนั้น  ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับสถานะของบุคคล ก็เปรียบเสมือนบุคคลที่เกิดและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้

บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี รายงานไว้ในงบการเงินเกี่ยวกับรายได้ของไอทีวีในปี 2564 จำนวน 23,683,771 บาท เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจมาจากผลตอบแทนมาจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย ไม่มีรายรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ หรือกิจการอื่นใดปรากฎอยู่ในงบการเงินของบริษัท

เมื่อตรวจสอบรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีย้อนหลังพบว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ในวาระที่ 8.3 มีรายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดำเนินกิจการของบริษัทต่อไป มีการประชุมเพื่อวางแผนการลงทุนในฐานะสื่อมาตั้งแต่ ปี 2559

โดยไอทีวีได้ดําเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างการลงทุน และได้รับข้อเสนอจากบริษัทหนึ่ง ซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล แต่เมื่อบริษัทได้วิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของบริษัทเป้าหมาย โดยรอบคอบแล้ว บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้ 

นอกจากนี้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทไอทีวี ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 บลจ. ภัทร ได้นําเสนอบริษัท เป้าหมายจํานวน 3 รายให้แก่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอย่างเป็นทางการ พร้อมรายงานวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจและแนวโน้มของผลประกอบการในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าบริษัทเป้าหมายที่ บลจ. ภัทร นําเสนอทั้งสามรายนั้น ตรงกับกรอบการลงทุนที่บริษัทได้กําหนดไว้ จึงมีมติเห็นชอบให้บลจ.ภัทร ดําเนินการนัดหมายเพื่อเจรจาการ ร่วมลงทุน แต่การเจรจากับบริษัททั้ง 3 รายไม่บรรลุผล เพราะไอทีวียังมีคดีความคงค้างกับ สปน. 

ข้อถกเถียงทางกฎหมายกรณีการถือหุ้นไอทีวี ของ พิธา

ฝ่ายสนับสนุนนายพิธาเห็นว่า การถือหุ้นของนายพิธา เป็นของกองมรดก นายพิธามีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น อีกทั้งไอทีวีก็ไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อมาตั้งแต่ปี 2550 จึงไม่เข้าข่ายการถือหุ้นสื่อ

แต่อีกฝ่ายเห็นว่า การอ้างว่าเป็นหุ้นไอทีทีเป็นหุ้นมรดก เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ทำตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดก เพราะนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2549 นับระยะเวลาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี เป็นระยะอันสมควรที่นายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการจัดการกองทรัพย์มรดกจนแล้วเสร็จมาหลาย 10 ปี

ขณะที่  นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา เห็นว่าการโอนหุ้นที่ นายพิธา โอนให้ นายภาษิณ ถ้า นายพิธา โอนในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องระบุไว้ในหลักฐานการโอนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้โอน นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน แต่ตามหลักฐานที่ นายเรืองไกร นำมาเปิดเผยระบุเพียงว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้โอน/ฝาก นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้รับโอน/ฝาก เท่านั้น เมื่อหลักฐานเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของ นายพิธา ไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

แต่แม้จะฟังว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง นายพิธา ในฐานะทายาทของผู้ตายก็มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งที่ตกมาเป็น นายพิธา ตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599