สื่อนอกสะท้อนภาพการเมืองไทยกรณี “บิ๊กตู่”ประกาศอำลาวงการ

12 ก.ค. 2566 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2566 | 06:55 น.

จากกรณีการประกาศวางมือทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วานนี้ (11 ก.ค.) สื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างนำเสนอข่าว พร้อมสะท้อนภาพความพ่ายแพ้ของระบอบทหารหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ค.

 

คำประกาศ วางมือทางการเมือง ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม มีขึ้นเมื่อวันอังคาร (11 ก.ค.) ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันพฤหัสบดีนี้ (13 ก.ค.) หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ค.อันนำชัยชนะมาสู่ฟากพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และเป็นความพ่ายแพ้หมดรูปของบรรดาพรรครัฐบาล ซึ่งรวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดย รทสช.ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ได้ที่นั่งส.ส.ในสภามาเพียง 36 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 23 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 ที่นั่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พลเอกประยุทธ์มีแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร(11 ก.ค.) ระบุถึง "ความสำเร็จมากมาย" ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ทั้งในส่วนของการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังสร้างเสถียรภาพและสันติภาพ รวมทั้งเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวางมือทางการเมืองเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2566

รอยเตอร์ชี้ว่า คำประกาศครั้งนี้ได้รับการคาดหมายไว้ว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่พรรครวมไทยสร้างชาติประสบความล้มเหลวได้ที่นั่งไปเพียง 36 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์จะยังคงทำหน้าที่นายกฯ รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ด้านสำนักข่าวเอพี รายงานว่า พลเอกประยุทธ์ ปัจจุบันอายุ 69 ปี นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557) หลังการรัฐประหาร ถือเป็นหนึ่งในผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของไทย อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์มิได้ระบุถึงสาเหตุของการตัดสินใจวางมือจากการเมืองในครั้งนี้

สื่ออัลจาซีรา ระบุว่า การยุติบทบาททางการเมืองของพลเอกประยุทธ์จะเป็นการ “ลดความท้าทายจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ที่มีต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งและอาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่หากได้รับเสียงโหวตส่วนใหญ่จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันพฤหัสบดีนี้(13 ก.ค.)

ในคำประกาศทางเฟซบุ๊กของพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ขอให้บรรดาผู้บริหารพรรค "ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปด้วยอุดมการณ์ที่เข้มแข็ง ปกป้องสถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ และดูแลประชาชนชาวไทย"

ขณะที่เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ยืนยันว่าจะไม่มีการเสนอชื่อผู้สมัครคนใดเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกประยุทธ์ เนื่องจากทางพรรคได้ที่นั่งเพียง 36 ที่นั่งเท่านั้น

ทางด้าน ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ว่า การวางมือทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา "แสดงถึงความพ่ายแพ้ของระบอบทหาร" และสามารถมองได้ว่าเป็น "ความก้าวหน้าของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย"

โดยศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวขยายความว่า สำหรับชาวไทยจำนวนมาก การยุติเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว และว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับสัญญาณของความถดถอยทางเศรษฐกิจ การผุกร่อนของการเมือง และจุดต่ำสุดบนเวทีโลก"

นักวิเคราะห์การเมืองไทยผู้นี้ชี้ยังด้วยว่า การวางมือของประยุทธ์อาจช่วย “เพิ่มโอกาส” ให้นายพิธาสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้