“พิธา-เศรษฐา”ชิงดำนายกฯ คนที่ 30

08 ก.ค. 2566 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2566 | 11:36 น.
2.4 k

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ลุ้นเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ยกแรก หากไม่ผ่านเป็นโอกาสของ “เศรษฐา ทวีสิน” หลัง“พิเชษฐ์" รองประธานสภา จากพรรคเพื่อไทย ขีดเส้นโหวตเลือกนายกฯ “13, 19-20 ก.ค.” 3 วัน 3 รอบ ต้องจบ

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ได้เลือก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และถือเป็นประธานรัฐสภาด้วย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา 

หลังจากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะนัดประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ในวันที่ 13 ก.ค. 2566 เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 

ล่าสุด วันที่ 6 ก.ค. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้วางวันเลือกนายกฯ ไว้ในวันที่ 13 ก.ค. ถ้าไม่ได้ก็จะให้เลือกรอบที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. และรอบที่ 3 วันที่ 20 ก.ค. คาดว่าทั้ง 3 วันก็น่าจะเพียงพอได้นายกฯ

“ถ้าไม่ได้ก็จะคุยกันใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมบ่อยๆ และใช้สมาชิก 750 คน ก็ค่อนข้างลำบาก เวลา 3 วันก็เยอะแล้ว และอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้" นายพิเชษฐ์ กล่าว  

ส่วนกรณีถ้าหากกำหนดไว้ 3 ครั้งแรกแล้วยังไม่ได้นายกฯ จะมีการพูดคุยกันใหม่ หรือ พลิกให้พรรคเพื่อไทย(พท.) มานำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุม 8 พรรค ที่ต้องทำตาม MOU ที่จะต้องจับมือกันไป ซึ่งต้องพูดคุยกันเป็นการภายใน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังไม่ทราบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่แน่ชัด ว่าจะสนับสนุนโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่พูดคุยกับ ส.ว. มีเจตนาดีที่ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ประเทศชาติจะได้เดินหน้าได้

ก่อนหน้านั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ และประธานรัฐสภา ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตเลือกนายกฯ กรณีที่มีการเสนอชื่อนายพิธา และมีแนวโน้มอาจจะไม่ผ่านการโหวต จะให้มีการโหวตกี่ครั้ง ว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้ เพราะครั้งเดียวอาจจะผ่านก็ได้ คือ ได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป 

“ต้องวิเคราะห์ดูว่าคะแนนที่ได้มีจำนวนเท่าไรถึงจะครบ 376 เสียง ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะขอเวลาในการประชุมกี่ครั้ง แต่โดยสรุปคือ รัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกฯ  ไม่ใช่ นายพิธา คนเดียว หาก นายพิธา ได้ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกฯ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกฯ ไม่ได้” 

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า การเลือกนายกฯ ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 เสียง และหากไม่ได้ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง และวันแรกไม่สามารถถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และการนัดโหวตนายกฯ ในครั้งต่อไป จะต้องคำนึงความพร้อมของสมาชิกในการเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมประชุมอย่างครบถ้วน

                      “พิธา-เศรษฐา”ชิงดำนายกฯ คนที่ 30

“พิธา”ลุ้นนายกฯ    

สำหรับการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ก๊อกแรกจะเป็นโอกาสของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่รวบรวมเสียงส.ส.จัดตั้งรัฐบาลได้ 312 เสียง แต่เสียงแค่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นนายกฯ ได้ เพราะการจะเป็นนายกฯ ได้ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียง หรือ กึ่งหนึ่งของ 2 สภา จากทั้งหมด 750 เสียง 

ดังนั้น พรรคก้าวไกลยังต้องการเสียงโหวตสนับสนุนจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาอีก 65 เสียง เหตุที่ต้องเป็น 65 เสียง ก็เพราะว่าเวลาเลือกนายกฯ ประธานรัฐสภา (ในที่นี้คือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลาง คงจะ “งดออกเสียง” ในการโหวต 

สมมติการโหวตรอบแรก นายพิธา ได้รับเสียงไม่พอเป็นนายกฯ ก็จะมีเวลาอีก 5 วัน ก่อนที่จะโหวตรอบต่อไปในวันที่ 19 ก.ค. ในการหาเสียงสนับสนุนจากส.ว.เพิ่มหรือแม้แต่การหาเสียง ส.ส. จากขั้วรัฐบาลเดิมมาเติมรัฐบาล ให้เพียงพอถึง 376 เสียง เพื่อให้ได้ครบกึ่งหนึ่งของสองสภา

“เศรษฐา”รอส้มหล่น

แต่หากในการโหวตรอบสอง นายพิธา ยังไม่ผ่านการรับรองจาก ส.ส. และ ส.ว.ให้เป็นนายกฯ อีก ก็น่าจะหมดโอกาสแล้วหรือไม่ 
ต่อไปก็น่าจะเป็นโอกาสของพรรคอันดับสอง คือ “พรรคเพื่อไทย” ที่จะขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็น่าจะเป็นโอกาสของ เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในลำดับถัดไป 

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมโหวตเลือกนายกฯ ที่ท่าทีของ ส.ว.ชัดเจนว่าไม่สนับสนุน นายพิธา ว่า ตนไม่แน่ใจว่าชัดเจนขนาดไหน แต่นายพิธา ก็บอกว่าน่าจะรวบรวมได้ 376 เสียง ก็เป็นกำลังใจให้ และมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยเราไม่แตกแถว

เมื่อถามว่ามีเสียงออกมาชัดเจนว่าไม่สนับสนุน นายพิธา แต่หากเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมที่จะสนับสนุน นายเศรษฐา กล่าวว่า “ยินดีครับ จริงๆ แล้ว 8 พรรคเราก็มี 312 เสียง ก็ต้องการอีกแค่ 64 เสียง ก็น่าจะผ่านได้ ซึ่งก็ยังมีความหวังและยังมั่นใจ นายพิธา ก็มั่นใจว่าจะได้ 376 เสียง”

เมื่อถามว่าส.ว.ควรที่จะยึดหลักการหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้บอกว่ายึดหลักการที่ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ขณะนี้ก็มี ส.ว.หลายคนออกมาบอกชัดเจนว่ามีเงื่อนไขเรื่อง ม.112 ที่ทำให้ไม่สามารถสนับสนุน นายพิธาได้ นายเศรษฐา กล่าวว่า มี ส.ว.หลายคนออกมาให้ความเห็น แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่ออกความเห็น ซึ่งเชื่อว่าวันที่จะมีการโหวตกัน เขาน่าจะทำตามฉันทามติของพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้หากการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกไม่ได้ ควรที่จะให้โอกาสอีกครั้งหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตรงนี้ต้องมานั่งดูว่าคะแนนเสียงที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง ตนเชื่อว่าหากคะแนนขาดอยู่เล็กน้อย ก็น่าจะมีการให้โอกาสกันบ้าง  

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกลยังอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะไม่ได้รับเสียงที่เพียงพอจาก ส.ว. มองว่ามีโอกาสที่ พรรคก้าวไกล จะยอมสละตัวเองออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าต่อได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีการคุยเรื่องที่ก้าวไกลจะสละตัวเองออก เราตัวติดกัน เรามาจากฝ่ายประชาธิปไตย และ 8 พรรคก็เซ็นเอ็มโอยู เรียบร้อยแล้ว 

++++

9 คน 6 พรรคมีสิทธิ์ชิงนายกฯ

สำหรับขั้นตอนการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 เป็นดังนี้   

1.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป 

2.การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน 

3.ในการเลือกนายกฯ ให้กระทำเป็นการ “เปิดเผย” โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ 

4.ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง หรือ  376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 

5. ถ้าหากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.เกิน 25 คนขึ้นไป สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคได้ มีจำนวน 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง ดังนี้

                           “พิธา-เศรษฐา”ชิงดำนายกฯ คนที่ 30

1.พรรคก้าวไกล 1 คน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 

2.พรรคเพื่อไทย 3 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร ,เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ

3.พรรคภูมิใจไทย 1 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล

4.พรรคพลังประชารัฐ 1 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

5.พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

6.พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์