ย้อนดูคำวินิจฉัยศาล ทำไม นายกฯ “ประยุทธ์” อยู่บ้านพักหลวง ไม่ผิด

23 มิ.ย. 2566 | 18:38 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 11:33 น.
1.2 k

ย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีอาศัย บ้านพักหลวง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำไมถึงอยู่ได้ไม่ผิด ค่าน้ำ ค่าไฟ ใครดูแล มีข้อระเบียบอะไรรองรับ

จากกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าวล่าสุดถึงกรณีการพ้นจาก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วนายกฯ ต้องย้ายออกจาก “บ้านพักหลวง” หรือบ้านพักทหารภายใน ร.1 รอ.หรือไม่ โดยนายกฯ ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกติกาเดิม และเป็นระเบียบของกองทัพบกอยู่แล้ว ถ้าจะแก้ไขก็ต้องไปแก้กฎหมาย

“การที่จะดูแลผู้บังคับบัญชามันเป็นกติกาเดิม แต่ถ้าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป ผมก็พร้อมออก” นายกระบุ

อีกทั้งยังกล่าวต่อว่า “ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผมด้วย เข้าใจไหม บ้านผมก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่มันไม่ปลอดภัย” พร้อมกับขยายความถึงด้านความปลอดภัยอีกว่า เป็นไปตามหลักสากล 

สำหรับประเด็นการอยู่บ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ นั้น ที่ผ่านมาเคยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม หลังจาก พลเอกประยุทธ์ ได้เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แล้ว 

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ย้อนดูคำวินิจฉัยศาล คดีบ้านพักหลวง “ประยุทธ์”

กรณีการอยู่บ้านพักหลวงของพลเอกประยุทธ์ นั้น ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีใช้ประโยชน์พักอาศัยบ้านพักทหาร (บ้านพักหลวง) หลังเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

โดยเมื่อปลายปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยบ้านพักรับรองกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกพิจารณาจัดบ้านพักรับรองกองทัพบกและสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาใช้งานในบ้านพักรับรองเป็นไปตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 แล้ว

จึงเป็นกรณีการรับที่มีระเบียบให้รับได้ ไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจจะทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ดังนั้น ผู้ถูกร้องไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 27 ประกอบข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 11

ไม่มีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) อันจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)

ดังนั้นในคดีอาศัยในบ้านพักทหาร ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ไม่สิ้นสุดความเป็นนายกฯ โดยไม่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ได้เรียกรับประโยชน์ที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำให้สถานะนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง จึงอาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น 

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

เหตุผลสำคัญ นายกฯ “ประยุทธ์” อยู่บ้านพักหลวงไม่ผิด

เนื้อหาส่วนหนึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 8 และข้อ 11 โดยคำนึงถึงสถานการณ์ สถานะของความเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และความจำเป็นอื่น ๆ ประกอบกัน 

จึงพิจารณาให้ผู้ถูกร้องมีสิทธิพักอาศัยในบ้านพักรับรองดังกล่าวต่อไป ภายหลังเกษียณอายุราชการ เช่นเดียวกับกรณีของผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นตามควรแก่สถานภาพและสถานการณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะเดียวกันการให้สิทธิดังกล่าว ตามธรรมเนียมปฏิบัติกองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก มิใช่ให้สิทธิเฉพาะกรณีผู้ถูกร้องเท่านั้น 

เห็นได้ว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้และได้รับการสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำประปาเป็นไปตามดุลพินิจของกองทัพบกที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 แล้ว

รวมทั้งระเบียบดังกล่าวใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรี โดยที่นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ

รวมทั้งความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัยแก่นายกรัฐมนตรีและครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

อ่านคำพิพากษาคดีบ้านพักหลวง ฉบับเต็ม ที่นี่