ป.ป.ช.แจงแนวทาง“ส.ส.ใหม่”ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

23 มิ.ย. 2566 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 16:00 น.

ป.ป.ช.แจงแนวทาง“ส.ส.ใหม่”ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน โดยถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 60 วัน ขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน ยื่นได้ 3 ช่องทาง “ส่งเอง-ไปรษณีย์-ออนไลน์”

วันนี้ (23 มิ.ย. 66 ) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.   เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566  กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน   

ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

สำหรับนายกรัฐมนตรี แล ะรัฐมนตรี ให้ถือวันถวายสัตย์ปฏิญาณฯ เป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ส่วน ส.ส. ให้ถือวันปฏิญาณตนในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง 

การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องยื่นพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา 

                      ป.ป.ช.แจงแนวทาง“ส.ส.ใหม่”ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

โดยในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย 

สำหรับทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการ ให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครอง หรือ ดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมด้วย

และต้องยื่นภายในกําหนดเวลา 60 วัน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง  แต่หากมีเหตุผลความจำเป็น อาจยื่นขอขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน  โดยชี้แจงเหตุของการยื่นบัญชีล่าช้าต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.และต้องยื่นคำขอก่อนวันครบกำหนด

สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงเอกสารประกอบ ให้ใช้แบบบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้ยื่นบัญชีสามารถยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ 3 ช่องทาง คือ 

1. จัดส่งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคคลอื่นจัดส่งแทน ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด    

2. จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โดย เรียน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000   

และ 3. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออนไลน์ผ่านระบบ ODS ซึ่งสะดวกรวดเร็ว เพียงเตรียมไฟล์และเอกสารประกอบให้อยู่ในรูปแบบ PDF