“สดศรี”ฟันธง“พิธา”โอนหุ้น ITV ภายหลังสมัคร ส.ส. ไม่รอด

07 มิ.ย. 2566 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 18:16 น.
673

“สดศรี”ลั่นรัฐธรรมนูญห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อ นับจากวันสมัครรับเลือกตั้ง หาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โอนหุ้นภายหลังสมัครส.ส. “ไม่รอด”

วันนี้ ( 7 มิ.ย.66) นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงคดีถือหุ้นสื่อ ITV ที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.ว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)  ระบุว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของหุ้นสื่อ ถ้าผู้นั้นจะสมัครรับเลือกตั้ง ถ้ามีหุ้นสื่อจะสมัครไม่ได้ 

การที่ นายพิธา จะรับหุ้นดังกล่าวมาจากมรดก หรือ มาจากการซื้อเอง แต่เมื่อถึงเวลาที่จะไปสมัครรับเลือกตั้ง ต้องปลอดจากหุ้นดังกล่าวนี้ก่อน ซึ่งเรื่องการถือหุ้นนี้ จะนับจากวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 

ในวันสมัครรับเลือกตั้ง หากมีกรณีนี้เกิดขึ้น กกต.ไม่สามารถล้วงลึกไปได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนไปหาหลักฐานมาร้อง  กกต.ต้องรับเรื่องขึ้นมาพิจารณาว่า ผิด หรือ ขัดมาตรา 98 (3) หรือไม่

“เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ถ้าหากท่านยังถือหุ้นอยู่ และเป็นหุ้นสื่อด้วย หาก กกต. รับลูกว่ามีหุ้นสื่อจริง ก็ต้องเรียกฝ่ายถูกกล่าวหามาให้การ และต้องไต่สวนทั้งสองฝ่าย”

ส่วนการมาโอนหุ้นตอนนี้จะมองว่าเป็นการเลี่ยงหรือไม่ นายสดศรี กล่าวว่า ถ้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้วมาโอนให้กับใครก็ตามทีหลัง เขานับหนึ่งในวันสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าในวันสมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติในกรณีนี้จะมาโอนหุ้นทีหลังมันก็ไม่พ้น   

“แต่หากจะมองว่า เป็นเทคนิคในการสู้คดี ทุกท่านมีสิทธิอ้างได้ ขึ้นอยู่กับ กกต. หรือ ศาลจะตีความ แต่ถ้ามาตราไหนชัดเจนอยู่แล้ว ห้ามไม่ให้มีหุ้น ถือหุ้น หรือ เป็นเจ้าของหุ้นสื่อในวันยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. การตีความกฎหมายต้องตีความอย่างเคร่งครัด คือว่ากันตรงๆ ไปเลย ส่วนผู้ถูกร้องจะสู้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง”

สำหรับกรณีที่บริษัทไอทีวี ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นางสดศรี เห็นว่า การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท กิจการค้าใด ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุในวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท ที่ส่วนใหญ่ไปพลาดตรงวัตถุประสงค์ ว่าดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชนได้  

แม้ต่อมาบริษัท และห้างหุ้นส่วนเหล่านั้น ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิก ผู้ทำนิติกรรมกับการค้าก็ไม่สามารถที่จะอ้างข้อกฎหมายใดๆ ได้