ทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 คุมเข้มห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ?

07 มิ.ย. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 11:08 น.
1.1 k

กางกฎหมายห้าม "นายกฯ-รมต.-ส.ส.และ ส.ว." ถือหุ้นสื่อ รัฐธรรมนูญปี 2560 คุมเข้มกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตั้งแต่ก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เพิกถอนสิทธิ 20 ปี

ยังคงเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง กรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายฟันธงว่า จะทำให้นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลไปไม่ถึงฝั่งฝัน

หากย้อนกลับไปการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เมื่อพลิกดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้กำหนดการเป็นหุ้นส่วนและการถือหุ้นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาไว้อย่างชัดเจน เป็นหลักการที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งมานานแล้ว 

ดังเช่น รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม

เขียนเน้นย้ำไว้ในมาตรา 265-268 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ โดยระบุ ห้าม ส.ส. , ส.ว. , และรัฐมนตรี ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนซึ่งผู้ที่จะต้องดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี ต้องดำเนินการเรื่องหุ้นกิจการสื่อให้เรียบร้อยก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง  

ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ยกระดับความเข้มข้นในเรื่องนี้เอาไว้ โดยกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ไว้ เพื่อมิให้อาศัยช่องทางในความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนในการหาเสียงหรือสนับสนุนตนเองหรือใส่ร้ายบุคคลอื่นและอาจเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุ ห้ามไว้ตั้งแต่การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และกรณีหากตรวจสอบพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบุคคลใดยังคงมีหุ้นในกิจการสื่ออยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งจะเป็นเหตุให้ขาดจากสมาชิกภาพการดำรงตำแหน่งได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดการเป็นหุ้นส่วนและการถือหุ้นของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

-กรณีนายกรัฐมนตรีที่มาจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้โดยการแจ้งรายชื่อดังกล่าว กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 88 และมาตรา 89

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีที่มาจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนแจ้งรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

กรณีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนมีการเสนอชื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในกรณีที่ไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลที่มาจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 272 วรรคสอง

2.รัฐมนตรี

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามมาตรา 160 (6)

3.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (3)

4.ส.ว.ที่มาจากดำเนินการจัดให้มีการเลือกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตามมาตรา 108 ข (1) ประกอบมาตรา 98 (3)

5.ส.ว.ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคัดเลือก 

ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามมาตรา 269

ในขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) ระบุเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งยังกำหนดบทลงโทษเอาไว้ในมาตรา 151 ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดเวลา 20 ปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย