“พิธา” ปัดจำวันไม่ได้โอนหุ้นไอทีวีให้ทายาท ยันไม่ใช่ขายหุ้น

06 มิ.ย. 2566 | 16:27 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2566 | 16:31 น.
551

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปัดจำวันไม่ได้โอนหุ้นไอทีวีให้ทายาท ยืนยันไม่ใช่ขายหุ้น ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจ กังวลเจอสกัดกั้นออกจากการเมือง

วันนี้ (6 มิถุนายน 2566) ที่พรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณีการถ่ายโอนหุ้นไอทีวี ว่า เป็นการถ่ายโอนหุ้นให้ทายาทคนอื่นในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา แต่จำวันที่ไม่ได้ ทั้งนี้เมื่อถามย้ำว่า เป็นโอนก่อนหรือหลังการเลือกตั้งหรือไม่ นายพิธา ตอบสั้น ๆ ว่า โอนในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

ส่วนการโอนไปให้ใครนั้น นายพิธา ปฏิเสธว่า เป็นเรื่องภายในครอบครัว เพราะเป็นการโอนหุ้นให้ทายาท ไม่ใช่การขายหุ้นเหมือนอย่างที่มีข่าวออกไป และเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจ 

ขณะที่กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้ข้อมูลว่าเป็นการขายหุ้นนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยอมรับว่า ไม่คิดจะเป็นประเด็นอะไร เพราะในอดีตเรื่องที่ต้องชี้แจง ทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องหุ้นไอทีวี ก็เป็นไปตามที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก แต่จุดตัดอยู่ที่อนาคตมีโอกาสที่ไอทีวีจะฟื้นฟูกลับมาทำธุรกิจต่อ

นายพิธา ยอมรับว่า หลายคนออกมาบอกว่า มีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้น ต้องมีความแน่นอน เพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้

ส่วนจะกระทบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่นั้น นายพิธา ระบุว่า ต้องดูในรายละเอียด ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าสงสัยในประเด็นใด โดยต้องรอทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานมาก่อน จึงจะได้ชี้แจงว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่า กกต. จะส่งหนังสือมาภายในสัปดาห์นี้ 

"เรื่องนี้เป็นการโอนเพื่อป้องกันว่าในอนาคตจะมีการฟื้นคืนชีพไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจของเขา หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองในการสกัดกั้นผม เพราะฉะนั้น เราต้องป้องกันความเสียงตรงนี้เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้" นายพิธา ยอมรับ

ตั้งคณะทำงานเพิ่ม 5 คณะ

วาระที่ 1 คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และราคาพลังงาน ได้รายงานผลการหารือของคณะทำงานเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย และผลกระทบกับประชาชน กรณีถ้ารัฐบาลปัจจุบันไม่ต่อเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ 

วาระที่ 2 การกำหนดกรอบการทำงาน เพื่อให้อีก 6 คณะที่เหลือ ที่ได้ประชุมบ้างแล้วสามารถทำงานต่อเนื่องและมีเอกภาพ โดยมีความมุ่งหวังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนได้อย่างแท้จริง

วาระที่ 3 แต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 5 คณะ คือ คณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล, คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อต้านส่วย, คณะทำงานสาธารณสุข, คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม และคณะทำงานปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเด็นผลกระทบต่อประชาชน และประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

เตรียมประชุมอีกครั้ง 20 มิถุนายน นี้

นายพิธา ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 มิถุนายน) จะมีการประชุมหัวหน้าพรรคทั้งหมด โดยจะนำเอาข้อสรุปคณะทำงานในวันนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ส่วนคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน นี้ และอาจมีการประชุมคณะทำงานสัญจรลงพื้นที่ไปในจุดต่างๆ ที่เป็นปัญหา เช่น ลงพื้นที่ไปดูการผลิตสุราเสรี ที่ จ.อุบลราชธานี หรือการดูปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ จ.เชียงใหม่ 

เพื่อไทยวางกรอบ 7 ปีงบสมดุล

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคและโฆษกคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะ โดยเฉพาะเรื่องสร้างความมั่นคงทางการคลัง โดยทุกนโยบายที่ใช้งบประมาณต้องคิดคำนวณว่าทุกบาททุกสตางค์ต้องมีผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อเงินภาษีของประชาชน และพรรคเพื่อไทยตั้งใจที่จะลดการขาดดุลการคลังลงเรื่อย ๆ หากสามารถสร้างสมดุลทางการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อประเทศไทย

ขณะที่ระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ หมายถึงมีฐานภาษีที่สูงขึ้น มีคนเข้าถึงระบบภาษีที่มากขึ้นจะทำให้รายได้รัฐมากขึ้น การคิดระบบภาษีจึงต้องคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งแง่บวกแง่ลบ ต้องไม่กระทบภาคเอกชนและการระดมทุน

ส่วนการออกแบบนโยบาย ต้องคิดคำนวนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องควบคู่กับความเท่าเทียมของการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ ขณะที่การทำงานของคณะอนุทำงานแต่ละคณะ ต้องวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน และระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง และสุดท้ายคือการเปิดประเทศหารายได้จากการต่างประเทศที่สร้างรายได้ ประเทศไทยต้องเปิดขึ้น เพื่อเชื่อมกับโลก ดึงดูดการค้าการลงทุนเข้าประเทศ