ศาลยกฟ้อง"ชัยวัฒน์-ผู้การ ปปป."ปมบุกจับ"รัชฎา"คาห้องทำงาน

30 พ.ค. 2566 | 13:13 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 13:26 น.
1.2 k

ศาลอาญาคดีทุจริตฯยกฟ้อง"ชัยวัฒน์-ผู้การ ปปป.พร้อมลูกน้องรวม 7 คน" ปม รวบ"อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ"คาห้องทำงานพร้อมเงินสินบนของกลาง ศาลให้ความเห็นตำรวจทำตามหน้าที่ เป็นการจับกุมซึ่งหน้า ไม่ต้องขอหมายจับ ทนายโจทย์เตรียมยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

วันที่ 30 พ.ค. 2566 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์

ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) กับพวกรวม 7 คน จำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ - ความผิดต่อเสรีภาพฯ

ศาลยกฟ้อง"ชัยวัฒน์-ผู้การ ปปป."บุกจับ"รัชฎา"คาห้องทำงาน

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 7 ที่ถูกนายรัชฎายื่นฟ้อง ประกอบด้วย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ  , พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ , พ.ต.ต.ธนกร จาวรุ่งวณิชสกุล , ร.ต.อ.เกียรติภูมิ ปภินวัช , ร.ต.อ.นที วุฒิภาธรณ์ , ร.ต.อ.กรกฏ ศรนิกร ซึ่งเป็นตำรวจชุด ปปป.และ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 

นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความ กล่าวว่า วันนี้ศาลไม่รับคำฟ้อง โดยศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามการทำตามอำนาจหน้าที่ ในการเข้าจับกุมในครั้งนั้น ตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การในชั้นศาล  

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รายละเอียดอยู่ระหว่างทางทีมทนายความขอคัดถ่ายคำสั่งจากศาล และจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลภายใน 30 วัน ซึ่งศาลจะรับหรือไม่รับฟ้องให้เป็นไปตามอำนาจของศาล  พร้อมยืนยันนายรัชฎา ไม่กังวลเพราะมองว่าเป็นไปตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามสิทธิ์

ส่วนกรณีที่ศาลยกคำฟ้องในวันนี้ไม่มีผลกระทบกับคดีที่นายรัชฎาถูกดำเนินคดี ในเรื่องของการเรียกรับสินบน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อละยังไม่มีการสรุปสำนวนส่งฟ้องต่อศาล
 

ทั้งนี้ คำฟ้องของโจทก์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำให้จำเลยที่ 7 ซึ่งแอบติดกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ไปพบโจทก์ โดยพูดชักจูงให้โจทก์ตกลงรับเงินหรือกำหนดจำนวนเงินหรือเปอร์เซ็นต์ของเงินเพื่อเรียกรับเอาจากข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีตำแหน่งหรือชื่อตามที่จำเลยที่ 7 สนทนาถึงและพยายามส่งมอบซองสีขาว 3 ซอง แก่โจทก์โดยโจทก์ไม่ทราบว่าภายในซองมีเงิน 98,000 บาท บรรจุอยู่ แต่โจทก์ปฏิเสธไม่รับ จำเลยที่ 7 จึงวางซองทั้ง 3 ซอง ไว้บนโต๊ะทำงานโจทก์แล้วออกจากห้องไป ทันใดนั้น จำเลยที่ 1 - 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ร่วมกันบุกรุกเข้ามาภายในห้องทำงานของโจทก์ ซึ่งเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นและหมายจับ แล้วร่วมกันจับกุมโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 ทั้งที่โจทก์ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด

การที่จำเลยที่ 1 - 6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้สนับสนุน

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 - 6 ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวีดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของโจทก์ และต้องสงวนไว้เป็นข้อราชการที่เป็นความลับ ปล่อยให้มีการนำวีดีโอภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงดังกล่าวเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 - 6 ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา79

ศาลยกฟ้อง"ชัยวัฒน์-ผู้การ ปปป."ปมบุกจับ"รัชฎา"คาห้องทำงาน

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่มีการเข้าจับกุมโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 7 เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เกี่ยวกับพฤติการณ์ทุจริตของโจทก์ที่ ป.ป.ช.สืบสวนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วเชื่อว่าคดีน่าจะมีมูล แต่ยังปราศจากหลักฐาน จึงประสานมายัง บก.ปปป.เพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงและเพื่อได้มาซึ่งพยานหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 - 6

วางแผนตรวจค้นจับกุมโจทก์จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.ซึ่งเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของโจทก์ ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ และไม่ใช่เป็นการร่วมกันก่อหรือพยายามก็ให้โจทก์กระทำความผิด

และขณะที่จำเลยที่ 7 เข้าไปพบโจทก์ที่ห้องทำงานของโจทก์จำเลยที่ 1 - 6 และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมหน่วยงานอื่นติดต่อสื่อสารกับจำเลยที่ 7 ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์โดยการโทรแบบกลุ่ม ทำให้ได้ยินการสนทนาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกรับเงิน

และเมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้แล้ว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของโจทก์และตรวจค้นพบซองบรรจุเงินรวม 98,000 บาท ที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้โจทก์อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของโจทก์

กรณีจึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดมาแล้วสดๆ มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เงินที่จำเลยที่ 7 นำไปมอบให้นั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน

จำเลยที่ 1 - 6 จึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมโจทก์โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ เมื่อข้อเท็จจริงโจทก์แถลงต่อศาลในชั้นตรวจฟ้องว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 - 6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีรายชื่อในบันทึกการจับกุมท้ายฟ้อง

กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะชี้ให้เห็นว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ครั้งนี้ กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ต้องรับโทษตามที่โจทก์อ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 - 6 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 จำเลยที่ 7 จึงไม่อาจเป็นผู้สนับสนุนและผู้ร่วมกระทำผิด


ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 164 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า นอกจากจำเลยที่ 1 - 6 และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีชื่อ ยังมีบุคคลอื่นอีกหลายคนร่วมอยู่ในเหตุการณ์จับกุมโจทก์ ฝ่ายของโจทก์มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ซึ่งได้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นจับกุมด้วยเช่นกัน

แต่โจทก์ไม่ได้ชี้ช่องพยานหลักฐานให้เห็นว่าวีดีโอบันทึกภาพและเสียงที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 - 6 กรณีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 - 6 กระทำความผิดตามมาตรา 164

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ เห็นว่าเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการจัดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงขณะเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ด้วยการบันทึกวิดีโอพร้อมเสียงเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษทางอาญา

จึงถือเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มาตรา 4(5) มิให้นำ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ พิพากษายกฟ้อง