เปิดไทม์ไลน์ ร้องเรียนทุจริต “รัชฎา” อธิบดีกรมอุทยานฯ รีดส่วย

04 ม.ค. 2566 | 12:33 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 23:23 น.

เปิดไทม์ไลน์ ร้องเรียนทุจริต นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รีดส่วย

สะเทือนวงการราชการไทย สะท้อนภาพสินบน ซื้อขายเก้าอี้ กรณี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกจับกุมคาห้องทำงาน เมื่อ 27 ธันวาคม 2565 หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนถึงพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่งในหน่วยงาน และมีการเรียกรับเงินจากหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เป็นรายเดือน เดือนละหลายแสนบาท 

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนเเรงที่สังคมกำลังวิพากวิจารณ์เรื่องว่า นี่คือ "ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน" 

คดีนี้มี “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ถือเป็นพยานปากเอก ส่วนกลุ่มรายชื่อหน้าซองสินบน ทยอยตอบรับให้ปากคำ เริ่ม 5 ม.ค.นี้

 

เปิดไทม์ไลน์ ร้องเรียนทุจริต “รัชฎา” อธิบดีกรมอุทยานฯ รีดส่วย

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์  2565 นายรัชฎา ฯ ได้ลงนาม ในหนังสือแจ้งเวียนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุด ที่ ทส 0901.304/ว3952 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ แจ้งให้ข้าราชการในสังกัดถือปฏิบัติ ดังนี้ 
 

  1. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ ราชการในสังกัดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่ง เปลี่ยนแปลง 
    2. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ ราชการ หรือไปช่วยปฏิบัติราชการต่างสังกัด (ภายในกรม) รวมทั้งผู้ที่มาช่วยปฏิบัติราชการจากส่วนราชการอื่น ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
    3. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติ ราชการทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่ม และ/หรือ หัวหน้าหน่วยงานใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งทำหน้าที่นั้นอยู่เดิม กลับไปปฏิบัติราชการต้นสังกัด หรือไปปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป 
    4. ให้ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษาสาขา ผู้อำนวยการกองทุกกอง และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกอื่นที่ขึ้นตรงต่ออธิบดี จัดทำคำสั่งมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ข้าราชการซึ่งกลับไปปฏิบัติราชการ ต้นสังกัดตามข้อ 3 ทุกราย

 

วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย ผู้อำนวยการสำนักสาขา ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกรด A (ขนาดใหญ่) ทั้งทางบกทางทะเล ทั่วประเทศ จำนวนหลายคำสั่ง และมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยออกคำสั่งแต่งตั้งทุก 3 วัน เป็นต้นมา

          

ต่อมา นายชัฒวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้รับเรื่องร้องเรียน ว่ามีการเรียกรับเงินในการโยกย้ายตำแหน่งของอธิบดีกรม อส. จากอดีตผู้บังคับบัญชา เพื่อน รุ่นน้อง จำนวนมาก

 

วันที่ 4 สิงหาคม 2565  นายชัยวัฒน์ฯ มีหนังสือร้องเรียนขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (ในทางลับ) กรณีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มรพฤติกรรมทุจริต และปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ถึงนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565  นายชัยวัฒน์ฯ เข้าพบนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการพูดคุยถึงการทุจริตเรียกรับเงินที่เกี่ยวกับ โดยนายรัชฎาฯ อธิบดีกรมอุทยานฯ ในการเรียกรับ ในการวิ่งเต้น โยกย้าย ข้าราชการของข้าราชการในกรม ซึ่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ได้แจ้งฯ แก่ข้าฯ ว่าตนไม่รู้ไม่เห็น และไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน หากมีหลักฐานให้นำมาแสดงมาแจ้งตนได้เลย

 

3 ตุลาคม 2565 นายชัยวัฒน์ ฯ กลับไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชามีอธิบดีมีการเรียกเก็บเปอร์เซ็นต์จากหัวหน้าหน่วยงาน

 

ปลายเดือนตุลาคม 2565 นายชัยวัฒน์ เข้าพบอธิบดีที่ห้องทำงานจึงได้ทราบว่าอธิบดีมีการเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานฯ ที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่จริง และเงินดังกล่าวให้ตนเป็นผู้นำมาส่ง

 

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เรียกเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีที่มีการร้องเรียน อธิบดีกรมอุทยานฯ ตามหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 4 สิงหาคม 2565

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 นายชัยวัฒน์ฯ ร่วมกับเจ้าหน้าตำรวจ ปปป. เจ้าหน้าที่ปปท และ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อมูลพยานข้อเท็จจริง และมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 

โดยกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

วันที่ 27  ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) นำโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญตัวนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา มาที่ห้องทำงานอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมแจ้งเหตุ และตรวจสอบพบเงินที่ดำเนินการล่อซื้อและขยายผลตรวจพบเงินและเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับเงินดังกล่าว

 

โดยตรวจยึดไว้เป็นของกลางจำนวน 21 รายการ เป็นเงินจำนวน 4,843,300 บาท พร้อมจับกุมตัวรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ฐาน เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน

 

หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ต่อมา เมื่อช่วงค่ำ 27 ธ.ค.  นายรัชฎา ได้ยื่นขอประกันตัว วางเงินสดจำนวน 4 แสนบาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะพิจารณาแล้วเห็นว่า  เป็นข้าราชการระดับสูงมีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ประกอบกับมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าจะมีพฤติกรรมหลบหนี จึงอนุญาตให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว