“ช่อ พรรณิการ์” รอดคดีหมิ่นสถาบัน ศาลอาญายกฟ้องปมโพสต์สมัยเรียนจุฬาฯ

19 พ.ค. 2566 | 17:19 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2566 | 17:24 น.
579

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง “ช่อ พรรณิการ์ วานิส” แกนนำคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล คดีถูกกล่าวหา “หมิ่นสถาบัน” กรณีโพสต์ข้อความสมัยเรียนจุฬาฯ ปี 56-57

วันนี้(19 พ.ค. 66) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ แกนนำคณะก้าวหน้า ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.พรรณิการ์ ในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)

คดีนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้เเจ้งความร้องทุกข์ไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งเเต่ช่วงปี 2564 กรณีที่ พรรณิการ์ มีการโพสต์ข้อความสมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยจุฬาฯ ในช่วง ปี 2556-2557 ซึ่งต่อมามีการเเจ้งความว่า ข้อความดังกล่าวโดยการนำเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบทกวีมีลักษณะหมิ่นสถาบันฯ

ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามความผิด พ.ร.บ.คอมฯ ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่ใช่การทำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่จะก่อความเสียหายหรือตื่นตระหนกต่อสังคมแต่อย่างใด

โดยข้อความทั้งสองข้อความที่โจทก์ฟ้องจำเลยมานั้น เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ตามที่โจทก์ฟ้องได้เลย เพราะทั้งสองข้อความไม่ได้เป็นกรณีที่จำเลยเจตนาจะนำความเท็จมาเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจผิด

นอกจากนี้แล้ว โดยในร่างคำพิพากษายังมีการอธิบายด้วยว่า สำหรับข้อความแรกนั้น เป็นการเปรียบเปรยถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น และข้อความที่สอง ก็เป็นคำทำนายเพลงยาวพยากรณ์ ซึ่งสาธารณชนทั่วไปรับรู้อยู่แล้ว มีการเผยแพร่และตีพิมพ์ทั่วไป ข้อความที่ 1 ระบุว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปัตย์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นอาวุธ ข้อความที่สอง เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

ศาลพิเคราะห์ว่า แม้ข้อความที่ 1 จะมีคำว่าพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเพียงการเปรียบเทียบโดยเล่นคำ วิญญูชนพึงทราบว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ถือเป็นความเท็จ 

ส่วนการมีคำว่า พระมหากษัตริย์ อาจทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกไปได้หลายทาง ตามอัตวิสัยของแต่ละบุคคล แต่การตัดสินคดีความพึงใช้ตัวบทกฎหมาย พิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่สามารถขึ้นอยู่กับทัศนคติ หรือ ความรู้สึกของคนใดคนหนึ่งได้ จึงเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เข้าข่ายความผิดพรบ คอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (2)

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามความผิด พรบ.คอมฯ ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่ใช่การทำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่จะก่อความเสียหายหรือตื่นตระหนกต่อสังคมแต่อย่างใด