เปิดรายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองกลางสั่งสอบเพิกถอนที่ดินเขากระโดง

30 มี.ค. 2566 | 14:06 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 14:59 น.

เปิดรายละเอียดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ชี้กรมที่ดินละเลยแก้ปัญหาปมพิพาทเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดงทับซ้อน สั่งอธิบดีกรมที่ดินเร่งตั้งคกก.สอบสวนตาม ม. 61 พร้อมดึง รฟท. ร่วมตรวจสอบหาแนวเขตที่ดินของ รฟท. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

วันนี้(30 มี.ค.66) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตาม มาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด 

ในคดีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ 5,083 ไร่ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 700 กว่าล้านบาท 


ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมที่ดินมีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และอธิบดีที่ดินในฐานะผู้บังคับบัญชา ก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของกรมที่ดิน ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ 

เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย. 2462

เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ที่ได้มาตามพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง 2464  และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง 

กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าว ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557

ประกอบกับคำพิพากษาดังกล่าว ก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของ รฟท. รฟท.จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า 

อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึง มีฐานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งสามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใด  

ประกอบกับ รฟท. ได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินของ รฟท. ประมาณ 850 แปลง แต่ รฟท. ดำเนินการคัดถ่ายเอกสารมาได้บางส่วน จำนวน 497แปลง  

อีกทั้ง ปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะทำงานตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 822/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย. 65 ว่า จากการลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบข้อมูลหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ผู้ฟ้องคดี อ้างสิทธิในเบื้องต้นพบว่า มีการออกโฉนดที่ดิน จำนวนประมาณ 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวนประมาณ 376 ฉบับ รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้น จำนวนประมาณ 772 ฉบับ 

กรณีจึงเป็นความปรากฏขึ้นจากการที่ รฟท. ได้มีหนังสือร้องขอให้ อธิบดีกรมที่ดิน ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าได้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน อธิบดีกรมที่ดินก็สามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินไปก่อนได้ 

โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด หรือ พบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้ว จึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

นอกจากนี้ เมื่อที่ดินพิพาทในคดีนี้ ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และคืนสิทธิในที่ดินให้แก่ รฟท.ได้ครอบครองที่ดิน และไม่ปรากฏว่า รฟท. ได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่า รฟท.ได้รับความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน 

ส่วนความเสียหายที่ รฟท. กล่าวอ้างว่าสามารถนำออกให้เช่า หรือ ทำประโยชน์ได้ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 129 ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตของ รฟท. ในกรณีที่มีการนำที่ดินออกทำประโยชน์แล้วเท่านั้น 

กรณีจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรมที่ดิน จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ รฟท. แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นอกจากศาลฯ มีคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทาง หรือ วิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ รฟท. ร่วมกับ คณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของ รฟท.

ตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 842 - 866/2560 และที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำรายงานการสอบสวนให้แล้วเสร็จ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป