ศาลรธน.รับวินิจฉัย 3 มาตรา พ.ร.ป.ป.ป.ช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

15 ก.พ. 2566 | 16:48 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 17:04 น.

ศาลรธน.รับวินิจฉัย 3 มาตรา พ.ร.ป.ป.ป.ช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สั่ง 5หน่วยงาน “ป.ป.ช.- ก.พ.- กรมเสริมการปกครองท้องถิ่น-วุฒิสภา-กฤษฎีกา”ชี้แจงใน 15 วัน

วันนี้ (15 ก.พ. 66 ) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ศาลปกครองกลาง ส่งคำโต้แย้งของ นายทศพร สุวานิช ผู้ฟ้องคดี ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 มาตรา 98 วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาตรา 99 และ มาตรา 101 ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า หรือไม่  

โดยให้แจ้งศาลปกครองทราบ และอาศัยอำนาจตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ให้เลขาธิการป.ป.ช. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เลขาธิการวุฒิสภา และ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ

ส่วนในประเด็นที่ นายทศพร ร้องว่า มาตรา 98 วรรคสอง วรรคสี่ และ วรรคห้า ขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า คำโต้แย้งของ นายทศพร ไม่ได้แสดงเหตุผลประกอบว่าขัดหรือแย้งอย่างไร กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง

ประกอบกับ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 21/2556 แล้วว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 ซึ่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 92 วรรคสอง มีหลักการเดียวกันกับพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 98 วรรคสอง 

และ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 บทบัญญัติที่มีหลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว 

ในส่วนมาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไปมิได้มีข้อความที่เป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้รับวินิจฉัยในส่วนนี้