บี้ กกต. รื้อแบ่งเขตเลือกตั้งกทม. ใหม่ “สมชัย” ติงผิดหลักเกณฑ์

06 ก.พ. 2566 | 13:31 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2566 | 13:49 น.

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) "สมชัย ศรีสุทธิยากร" ระบุ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.ผิดหลักเกณฑ์ เหตุจำนวนราษฎรแตกต่างกันอื้อ จี้กกต.กลางสั่งรื้อใหม่ทั้งหมด

จากกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเทศ ไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ และเปิดรับฟังความคิดเห็นให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วันนั้น ปรากฏว่าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 33 เขต กกต.กทม. ได้ดำเนินการแบ่งเขต ทั้งสิ้น 5 รูปแบบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกพื้นที่ กทม.ว่า ไม่เป็นไปตามประกาศ กกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2566 โดยกกต. ต้องมีคำสั่งให้ กกต.กทม. ดำเนินการแบ่งเขตใหม่ เนื่องจากไม่สามารถใช้งานได้ทั้ง 5 รูปแบบ

แบ่งเขตเลือกตั้ง

ผลต่างจำนวนราษฎรเกินกว่ากกต.กำหนด

นายสมชัย ชี้ว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ทั้ง 5 รูปแบบ เกินกว่าที่ประกาศกกต. กำหนดทั้งสิ้น โดยหลักเกณฑ์ในประกาศ กกต. ข้อที่ 3 (2) ระบุว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น ซึ่งจำนวนราษฎรเฉลี่ย ของ กทม. คือ 166,513 คน

ดังนั้น ผลต่างของจำนวนราษฎร จึงไม่ควรมากกว่ากัน หรือน้อยกว่ากัน เกินร้อยละ 10 คือ 16,651 คน โดยผลการแบ่งเขตทั้ง 5 รูปแบบนั้น มีความแตกต่างของจำนวนราษฎรดังนี้

  • แบบที่ 1 ผิดเกณฑ์ 20 เขต คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด
  • แบบที่ 2 ผิดเกณฑ์ 19 เขต คิดเป็นร้อยละ 57.57 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด
  • แบบที่ 3 ผิดเกณฑ์ 19 เขต คิดเป็นร้อยละ 57.57 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด
  • แบบที่ 4 ผิดเกณฑ์ 22 เขต คิดเป็นร้อยละ 66.66 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด
  • แบบที่ 5 ผิดเกณฑ์ 21 เขต คิดเป็นร้อยละ 63.64 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด

ประกาศกกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ นายสมชัยได้ยกตัวอย่างเขตเลือกตั้ง กทม. ที่มีผลต่างของจำนวนราษฎรจำนวนมากเกินเกณฑ์ 10% ได้แก่

แบบที่ 1 

เขต 11 สายไหม มีราษฎร 208,928 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.47 

เขต 26 ทุ่งครุ มีราษฎร 123,761 คน ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.67 

หมายความว่า แบบที่ 1 มีจำนวนราษฎรห่างกันถึง 85,167 คน

แบบที่ 2 

เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 

เขต 22 สวนหลวง มีราษฎร 122,676 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.33 

หมายความว่า แบบที่ 2 มีจำนวนราษฎรห่างกันถึง 86,444 คน

แบบที่ 3 

เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 25.59 

เขตที่ 10 หลักสี่ ดอนเมือง(เฉพาะแขวงสนามบิน) ราษฎร 122,411 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.49 

หมายความว่า แบบที่ 3 มีจำนวนราษฎรห่างกันถึง 86,709 คน

แบบที่ 4 

เขต 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 

เขต 6 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 

หมายความว่า แบบที่ 4 มีจำนวนราษฎรห่างกันถึง 89,689 คน

แบบที่ 5

เขต 22 สวนหลวง ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) 217,818 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30.81 

เขต 10 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 

หมายความว่า แบบที่ 5 มีจำนวนราษฎรห่างกันถึง 98,387 คน

ยกตัวอย่างเขตเลือกตั้ง กทม.