ฝ่ายค้าน ชงศาลรธน. ฟัน “ศักดิ์สยาม” พ้นรัฐมนตรี-ส.ส.

25 ม.ค. 2566 | 13:18 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2566 | 13:23 น.

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ชงประธานศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ส.ส. “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เหตุเอี่ยวบริษัทเอกชนประมูลงานกระทรวงคมนาคม

วันนี้ (25 มกราคม) ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ

โดยหนังสือคำร้องฉบับดังกล่าว ฝ่ายค้านได้ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอเรื่องไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี และสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 

เหตุมีการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าด้วยวิธีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีเอกสารหลักฐานประกอบทั้งหมด 14 เรื่อง 

 

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือชงประธานศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ส.ส. “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”

นพ.ชลน่าน ระบุว่า คำร้องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ครั้งล่าสุด ซึ่งมีข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องหลายประการ ในการทำหน้าที่รัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม โดยที่ผ่านมามีส่วนหนึ่งได้ยื่นให้กับคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว เช่น เรื่องที่ดินเขากระโดง เป็นต้น

“ในฐานะเป็นฝ่ายตรวจสอบ ไม่ได้อาฆาตมาดร้าย หรือเล่นเกมการเมือง หวังผลประโยชน์ในพื้นที่ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะฝ่ายค้าน เห็นว่าการกระทำของนายศักดิ์สยามเข้าข่ายมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ จึงยื่นให้ศาลตรวจสอบวินิจฉัย ส่วนจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยภายใน 15 วันตามกรอบเวลา”

ด้าน พลตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ถือว่ายังเป็น ส.ส. ที่ได้พิจารณางบประมาณ และได้ตั้งงบประมาณ ในฐานะรัฐมนตรี ทั้งนี้ยังพบด้วยว่านายศักดิ์สยามยังเป็นกรรมาธิการ ซึ่งจากการตรวจสอบในงบของกรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และมีบริษัทที่นายศักดิ์สยาม มีหุ้นส่วนอยู่ และยังได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทางตรง 

ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม บริษัทแห่งนี้ นายศักดิ์สยาม รับเงินในฐานะที่ปรึกษาจากบริษัทดังกล่าว และก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี บริษัทนี้ใช้บ้านเลขที่ของนายศักดิ์สยามเป็นที่ตั้ง และเมื่อนายศักดิ์สยามย้ายออกจากบ้านนี้ และได้ย้ายไปอยู่บนที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งในทางปฏิบัติหากไม่มีความผูกพันธ์ ไม่สามารถทำได้

 

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือชงประธานศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ส.ส. “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”

อีกทั้งบริษัทดังกล่าว เป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม และในช่วงที่พิจารณางบในชั้นกรรมาธิการ มี ส.ส. ท้วงติงเรื่องการนำงบประมาณไปที่จังหวัดบุรีรัมย์มากกว่ายังหวัดอื่น ซึ่งมองว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการไต่สวนเรื่องนี้ได้

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบ โดยยกตัวอย่างกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลวินิจฉัยกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งใกล้เคียงกับกรณีของนายศักดิ์สยาม ที่ยังมีหุ้นส่วนของบริษัทเอกชนดังกล่าวนี้ ถือเป็นการขัดผลประโยชน์ชัดเจน