วงเสวนาปชป.ชี้เงินอำนาจทำกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว คนรวยทำผิดไม่ติดคุก 

22 ม.ค. 2566 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2566 | 16:28 น.

วงเสวนา ปชป. ชี้เงินและอำนาจทำกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวช่วยคนรวยทำผิดไม่ติดคุก แนะการเมืองต้องไม่แทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ ใช้ระบบอาวุโสและคุณธรรมส่งเสริมคนดี

วันที่ 22 มกราคม 2566 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดเสวนา "รวยแล้วทำผิด !! ไม่ติดคุก ??” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ  มือปราบหูดำ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี ดร.อภิชัย ศรีโสภิต อดีตรองผู้บัญชาการ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ”กัปตันไมเคิล” นายพันธุ์พิสุทธิ์ นุราช นักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนาโดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า หากพูดอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นได้ว่าคนรวยทำผิดบางคนก็ติดคุก นักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็ยังติดคุก 

แต่การตั้งคำถามว่าทำไมคนรวยทำผิดไม่ติดคุกเนื่องจากปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีซึ่งเป็นคนรวย มีฐานะทางเศรษฐกิจกระทำความผิดแต่มีการช่วยเหลือ ซึ่งหลายคดียังเป็นข้อกังขาของคนในสังคม 

เช่น กรณีทุนจีนสีเทาทำให้สังคมไทยฉุกคิดว่าคนรวยสามารถกระทำความผิดและรอดได้เพราะมีช่องทางการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จึงอยากให้มีกระบวนการพูดคุย หาทางออกเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 

ด้าน พล.ต.ต.วิชัย  ในฐานะที่รับราชการตำรวจมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า ทุกสถาบันผลิตบุคลากรให้เป็นคนดีช่วยเหลือชาติบ้านเมือง องค์กรตำรวจก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเข้าสู่การทำงานจริงต้องพบเจอปัจจัยภายนอก   3 ประการทำให้ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ คือ

 1.สายบังคับบัญชา 2.สังคมที่เปลี่ยนไป 3.โซเชียลมีเดียที่จับจ้องตำรวจ หลายคดีที่ผ่านมาตำรวจตกเป็นเป้า ประชาชนตรวจสอบกระบวนการทำงานของตำรวจมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าผู้กระทำผิดเป็นคนรวย จะยิ่งถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น เช่นกรณีเสี่ยเบ๊นท์ลีย์ ที่ทำให้สังคมมองว่ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เนื่องจากคนรวยมีทนายความ มีเงินไปต่อสู้ รัฐเอื้อประโยชน์ ในขณะที่คนจนไม่มี 

“ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐต้องยึดหลักความถูกต้อง ประชาชนก็จะไม่เสื่อมศรัทธา และต่อว่าไม่ได้  กระบวนการยุติธรรมประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดบิดเบี้ยว กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เกิด  ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องเข้มแข็ง บ้านเมืองสงบต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรม”

นอกจากนี้ พล.ต.ต.วิชัย อยากให้ประชนร่วมกันเป็นหูเป็นตาตรวจสอบกระบวนการต่าง ๆ ที่ บิดเบี้ยว หากทุกคนช่วยกันตรวจสอบ ก็จะทำให้สังคมเข้มแข็ง ลดการทุจริต 

พร้อมทั้งเสนอให้องค์กรตำรวจเป็นอิสระจากนักการเมือง เนื่องจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงทำให้การทำหน้าที่ไม่เป็นอิสระ และบางครั้งต้องตอบสนองนักการเมืองบางกลุ่มบางพวก ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และการใช้อำนาจหน้าที่ที่ต้องโดนแทรกแซง

“เนื่องจากตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน จึงถูกตรวจสอบมากเป็นธรรมดาโดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีอิทธิพลมาก สมัยนี้การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ต้องมาจากคณะกรรมการ กตร.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงทำให้การแต่งตั้งมีโอกาสถูกแทรกแซง ผบ.ตร.ถูกลดบทบาทอำนาจหน้าที่ไปโดยปริยาย ดังนั้นหากตำรวจเป็นองค์กรอิสระปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมืองก็จะสามารถคานอำนาจต่าง ๆ ได้”  

ด้าน พล.ต.ต.ดร.อภิชัย ศรีโสภิต อดีตรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ของตำรวจ กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจมุ่งผลิตบุคลากรที่เป็นคนดี คนเก่ง สู่สังคม แต่ตำรวจถูกวิจารณ์อย่างหนักเพราะมีปัจจัยภายนอกแทรกแซงกระบวนการทำงาน

“ผมกล้าพูดว่า นรต.ทุกคนเก่งและดี ในแต่ละปีมีผู้สมัครสอบจำนวนหลักหมื่น แต่รับแค่ 300 คน ซึ่งแต่ละคนเป็นคนเก่งระดับประเทศ แต่ตำรวจเป็นอาชีพเดียวที่ไม่ทราบอนาคตของเส้นทางการเติบโต เพราะต้องเจอกับระบบเส้นสาย โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าตำรวจไทยเก่งไม่แพ้ชาติอื่น”

ทั้งนี้ มีตำรวจที่ดีมากมาย ขอเป็นกำลังใจให้ทำงานโดยยึดหลักความถูกต้อง ชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่าให้ปัจจัยภายนอกเข้ามามีอำนาจเหนือกว่าหน้าที่โดยเฉพาะการเมืองซึ่งเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทั้งสิ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

“ถ้าไม่มีเส้นสายบางคนต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้เลื่อนตำแหน่ง ทำให้ต้องมีการวิ่งเต้น เพราะไม่เช่นนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเดิม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ควรมีการเมืองเกี่ยวข้อง และมีอิสระในการทำหน้าที่” พล.ต.ต.ดร.อภิชัย กล่าว

ด้าน นายพันธุ์พิสุทธิ์ นุราช นักการเมืองรุ่นใหม่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า คนรวยที่สู้ตามกระบวนการยุติธรรมและติดคุกก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละบุคคล 

พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบการทำงานของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นปาก เป็นเสียง กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ขับเคลื่อนสังคม ซึ่งอาจไม่เปลี่ยนได้ทั้งหมดในวันเดียว แต่ต้องลุกขึ้นมาทำเพื่อให้ค่อย ๆ หมดไป

“เราไม่สามารถทำให้คนรวยเหมือนกันหมด แต่เราต้องทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ตามที่ท่านชวน หลีกภัย เคยพูดไว้เมื่อสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้ายึดหลักความถูกต้อง 

ประเทศจะเดินหน้าได้ ตำรวจไทยดี แต่ถูกระบบอุปถัมภ์กลืน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ประเทศจะเดินหน้าได้เมื่อฟันเฟืองหมุนไปพร้อมกัน ถ้าเฟืองตัวไหนเบี้ยวก็ไปไม่ได้ บ้านเราถูกปลูกฝังเรื่องระบบสังคมอุปถัมภ์มายาวนาน เด็กต้องเกรงใจผู้ใหญ่ เกรงใจผู้บังคับบัญชา นักการเมืองคนรุ่นใหม่ต้องทำให้คนในสังคมตระหนักว่ามันเป็นปัญหาและช่วยกันหาทางแก้ไขเพื่อให้ระบบสังคมอุปถัมภ์หายไป”  นายพันธุ์พิสุทธิ์ กล่าว

นางดรุณวรรณ กล่าวเสริมว่า โซเชียลมีเดีย ช่วยให้เกิดการตรวจสอบ พลังของประชาชนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเสพข้อมูลข่าวสารต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ก่อนพิพากษากล่าวโทษผู้ใด และใช้โซเชียลมีเดียในแนวทางที่สร้างสรรค์ ไม่ตัดสินโดยปราศจากข้อมูล ข้อเท็จจริง การจะแก้ปัญหาเรื่องคนรวยทำผิดไม่ติดคุก ตัวผู้กระทำผิดที่ถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวยก็ต้องมีจิตสำนึกด้วยเช่นกัน ที่จะไม่ใช้เงินมาคัดง้างกระบวนการยุติธรรม หากพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ก็ต้องติดคุกด้วยกันทั้งนั้นโดยไม่มีข้อยกเว้น