ชำแหละ 8 นโยบาย ปชป. เน้นโหวตเตอร์ชาวบ้าน

13 ม.ค. 2566 | 17:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2566 | 00:14 น.
658

8 นโยบายของ ปชป.ที่เปิดออกมา เกี่ยวข้องกับระดับฐานรากทั้ง เกษตรกร-ชาวนา-ประมง-ชุมชน ถือเป็นนโยบายที่จะใช้ช่วงชิงคะแนนเสียงจากชาวบ้าน

เปิดออกมาอีกชุดสำหรับนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) คราวนี้เป็นนโยบายส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” 

เป็นการเปิดประเด็น 8 นโยบายหลักด้านการเกษตร ประมง และ ชุมชน ที่จะสร้างฐานรากของสังคมไทย ก่อนที่จะมีรายละเอียดของแต่ละนโยบายตามอีกระลอกภายหลัง

แต่ละนโยบายที่พรรค ปชป.แถลงออกมา จะใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งส.ส. หากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็จะผลักดันนโยบายที่ใช้หาเสียงนี้ บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลต่อไป  

8 นโยบายที่แกนนำ ปชป. ทั้ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเปิดออกมาวันนี้ (13 ม.ค.66) ประกอบด้วย

 

นโยบายแรกคือ การประกันรายได้ เป็น “การประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่าง” ทั้ง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และ ข้าวโพด ซึ่งต่อยอดโครงการประกันรายได้ โดยเน้นในส่วนของเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกร 

                                              
นโยบายที่ 2 สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.7 - 4.8 ล้านครัวเรือน ชาวนาจะได้รับเงิน 30,000 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน โดยพรรคประชาธิปัตย์มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวนา 

                        ชำแหละ 8 นโยบาย ปชป. เน้นโหวตเตอร์ชาวบ้าน

นโยบายที่ 3 “ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน” เพื่อพัฒนาเด็ก และเป็นการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคนมให้กับเด็กไทย หลังจากพรรคปชป. ที่ได้ทำมาแล้ว 280 วัน 

นโยบายที่ 4 เป็นการดูแลเกษตรชาวประมงทั่วประเทศกว่า  2,800 แห่ง ด้วยเงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปี ทุกกลุ่ม ทั้ง เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มประมงเป็นฐานรากของประเทศ จึงต้องการสร้างความเข้มแข็งในฐานราก  

นโยบายที่ 5 ปชป.จะ “ปลดล็อค ประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU” เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีความเดือดร้อน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม 

ส่วนนโยบายที่ 6 พรรคจะออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาของประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน อยู่ในที่รกร้างว่างเปล่า 
นโยบายที่ 7 ออกกรรมสิทธิ์ทำกินในที่ดินของรัฐ ให้เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง                             

และ 8 สนับสนุนความเข้มแข็งของ ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ รวมทั้งในกรุงเทพมหานครทุกชุมชน

                                                      

เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่แถลงในวันนี้ ป็นนโยบายเบื้องต้นที่จะสร้างฐานรากของสังคมไทย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่คะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว  


…8 นโยบายที่ ปชป.เปิดออกมาวันนี้ ล้วนเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องระดับรากหญ้า ทั้งหมู่บ้าน ชุมชน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงชุมชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 
นโยบายที่เปิดออกมาทั้งหมด ต้องหวังผลในการเลือกตั้งส.ส. ที่จะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 โดยเฉพาะกลุ่ม “โหวตเตอร์” ระดับชาวบ้านแน่นอน...