“ประหยัด พวงจำปา” ยื่น ป.ป.ช. ล้มมติชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ-ไล่ออกราชการ

12 ม.ค. 2566 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2566 | 18:06 น.

“ประหยัด พวงจำปา” ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ล้มมติชี้มูลความผิด ร่ำรวยผิดปกติ ไล่ออกจากราชการ ซัดจงใจกลั่นแกล้ง เป็นการละเมิดและขัดแย้งข้อกฎหมายหลายฉบับ โดยขอให้มีสรุปภายใน 7 วัน

จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 66/2565 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เรื่องชี้มูลความผิด นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ก่อนจะมีหนังสือไล่ออกจากราชการนั้น

 

ล่าสุด นายประหยัด ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการป.ป.ช. ลงวันที่ 5 มกราคม 2566 เรื่องขอคัดค้านการกระทำอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเป็นการจงใจละเมิดอย่างร้ายแรงและต่อเนื่อง ขอให้หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้ทบทวนแก้ไขมติคณะกรรมการป.ป.ช.อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

 

กรณีมติคณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลความผิด

 

โดยลงคะแนนเสียงเป็น 2 ฝ่ายเท่ากัน มีมติ 4 ต่อ 4 เสียง โดยฝ่ายแรก 4 เสียง เห็นว่าทรัพย์สินของนางธนิภา พวงจำปา ภรรยาไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร เงินลงทุนในบริษัท 6 บริษัท และห้องชุดประเทศอังกฤษ เป็นทรัพย์สินที่นายประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ

 

ฝ่ายที่สอง 4 เสียงเห็นว่า นายประหยัด ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการและกำกับดูแลกิจการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และภารกิจสนับสนุนเป็นงานหลัก ซึ่งไม่เอื้อโอกาสที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน 

 

อีกทั้งจากการไต่สวนยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ทรัพย์สินรายงานเงินฝากของภรรยา และเงินลงทุนในบริษัท 6 บริษัท ห้องชุดที่ประเทศอังกฤษ เป็นการได้ทรัพย์สินมาโดยสืบเนื่องจาการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของนายประหยัด ผู้ถูกกล่าวหา กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าทรัพย์สินรายการดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่นายประหยัดพวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ประธานฯ ได้สรุปว่าผลการลงคะแนนเสียงเมื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ต้องถือตามความเห็นของกรรมการป.ป.ช.ฝ่ายที่หนึ่งจำนวน 4 เสียง ซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการป.ป.ช.เท่าที่มีอยู่ว่านายประหยัดพวงจำปาผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ

 

จากนั้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายประหยัด ได้มีหนังสือ เรื่องโต้แย้งการลงมติของคณะกรมการป.ป.ช.ที่ไม่ชอบ ไม่สุจริต ต่อมากรรมการป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า 

 

การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งตามวรรคสอง กำหนดให้นำมาใช้บังคับกับการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติด้วยโดยอนุโลม 

 

ดังนั้นจึงได้ทำหนังสือคัดค้านการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการป.ป.ช. โดยอ้างรายละเอียด 2 ข้อ ดังนี้

 

1. การประชุมไม่มีมติเสียงข้างมาก คะแนนเสียงเท่ากัน ผลของการลงมติไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเป็นเอกฉันท์ 

 

การหาข้อยุติไม่ได้ กับมติ 4 ต่อ 4 เท่ากัน โดยไม่มีเสียงข้างมาก และไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ไม่มีฝ่ายใดชนะ คะแนนเสียงเท่ากัน แต่คณะกรรมการป.ป.ช.กลับชี้มูลความผิด ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และไล่ออกจากราชการ การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง จงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเป็นการจงใจละเมิดอย่างร้ายแรง คือ

 

ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 22 เป็นเรื่องการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด สอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ข้อ 18

 

ส่วนมาตรา 23 นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญพิเศษและเป็นการยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 22 “เว้นแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น” 

 

เป็นการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีโทษในทางอาญา 

 

กรณีมีคะแนนเสียงเท่ากันประธานในที่ประชุมไม่มีสิทธิออกเสียงชี้ขาด ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ข้อ 19 และมาตรา 23 เป็นกฎหมายที่บัญญัติเรื่องสำคัญเป็นพิเศษและเป็นการลงมติที่มีโทษในทางอาญา 

 

กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิของเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเรื่องชี้ขาดเหมือนเรื่องทั่วไปตามมาตรา 22 ดังนั้น มติที่ออกเสียงตามมาตรา 23 นั้นต้องการมติที่ชนะเป็นเอกฉันท์เท่านั้น เช่น 5 ต่อ 3 หรือ 6 ต่อ 2 ถึงจะชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ มิเช่นนั้นจะต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกกล่าวหาตามหลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปอันเป็นสากลใช้ทั่วทุกประเทศ

 

ในการตีความกฎหมายตามตัวอักษร คำว่า “ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” นั้น ต้องหมายถึงหรือแปลได้ว่าต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ และต้องไม่ใช่มีมติเท่ากัน ดังเช่น 4 ต่อ 4 อย่างแน่นอน หากเท่ากันก็ไม่ใช่มติที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ เพราะไม่มีฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ และจะถือเอาประโยชน์แห่งเสียงข้างมากไม่ได้

 

ส่วนคำว่า “ไม่น้อยกว่า” แปลความหมายว่า “มากกว่า” ไม่ได้แปลความหมายว่า “เท่ากัน”อย่างแน่นอน ซึ่งในวันประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ดังกล่าว มีกรรมการ 8 ท่าน ดังนั้นการมีมติ 4 ต่อ 4 ถือว่าเท่ากัน เสมอกัน หาเสียงข้างมากมิได้

 

ทั้ง ๆ ที่การลงมติชี้มูลนายประหยัดจะหาเสียงข้างมากมิได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ประธานกรรมการป.ป.ช.กลับมีคำสั่งลงโทษไล่นายประหยัดออกจากราชการ 

 

ทั้งนี้เชื่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง จงใจละเมิดต่อนายประหยัดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและต่อเนื่อง ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีการจงใจตีความกฎหมายโดยบิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมและบังคับใช้กฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่างกฎหมายโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 

โดยเฉพาะเข้าข่ายการบังคับใช้กฎหมายขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและขัดแย้งกับหลักการ การดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 23

 

2.ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” 

 

ทั้งนี้เห็นว่า การชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ และต่อมาได้ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อร้องขอต่อศาลให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินนั้น โทษริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) นั้น

 

หลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามหลักสากลของทุกประเทศ หากมีการลงมติ แล้วคะแนนเสียงเท่ากัน ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 และวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 

 

ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย 

 

สอดคล้องกับ วิธีพิจารณาความอาญามาตรา มาตรา 184 ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคําพิพากษาหรือคำสั่ง การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้น ไปจะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยมากยอมเห็นด้วยผู้ พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยน้อยกว่า ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักไว้เพื่อเป็นหลักและแนวบรรทัดฐานต่อไป ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6688/2549 

 

แม้แต่ในคดีแพ่ง หากมีการลงมติ คะแนนเสียงเท่ากันให้ถือว่ายังหาข้อยุติมิได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะได้ต้องได้มติเสียงชนะกันเป็นเอกฉันท์เท่านั้น แต่กรณีของดร.ประหยัดเป็นคดีอาญา มีโทษในทางอาญา คะแนนเสียง 4 ต่อ 4 เท่ากัน หาข้อยุติไม่ได้ ควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับผู้ถูกกล่าวหา

 

แต่ตนเองเห็นว่า เรื่องนี้คณะกรรมการป.ป.ช. จงใจกลั่นแกล้ง ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติ และส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและไล่ออกจากราชการ เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

 

ทั้งนี้ยังระบุว่า ในเกือบทุกประเทศในโลก องค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม หรือ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีสำนักงาน ป.ป.ช.ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น ในคดีอาญากรณีมีการลงมติเท่ากัน 4 ต่อ 4 ให้สันนิษฐานไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิด ชี้มูลความผิด ดำเนินคดี และไล่ออก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 , 25 , 26 และ 27 

 

โดยการตีความมาตรา 23 ของในกรณีการลงมติ 4 ต่อ 4 แล้วถือว่าเป็นการชี้มูลความผิดได้ ก็ถือว่า มาตรา 23 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถือว่ากฎหมายลูก ขัดแย้งกับกฎหมายฉบับแม่และอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า มาตรา 23 จึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้กับกรณีนี้เช่นกัน 

 

นอกจากนั้น ยังระบุว่า สาเหตุหลักในการตีความไม่ชอบด้วยกฎหมายล้วนเกิดมาจากการกลั่นแกล้งโดยปราศจากข้อสงสัย เห็นได้จาก กรรมการป.ป.ช. 2 คนที่ลงมติว่านายประหยัดร่ำรวยผิดปกติ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีหลายคดีในศาล มีความขัดแย้งกับนายประหยัด มีคดีฟ้องร้องกันหลายคดี 

 

ด้วยเหตุนี้จึงขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการแก้ไขมติที่ชี้มูลความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ที่ตีความโดยมิชอบและเพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการโดยด่วน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่กรรมการป.ป.ช.ได้รับหนังสือฉบับนี้ 

 

โดยขอให้กรรมการป.ป.ช.แต่ละคนให้ความเห็นส่วนตัวให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลการลงมติ 4 ต่อ 4 ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯมาตรา 23 ว่า ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว กรณีมีเสียงเท่ากัน สามารถชี้มูลนายประหยัดได้หรือไม่ และสำนักงานป.ป.ช.มีอำนาจ และสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการไล่นายประหยัดออกจากราชการได้หรือไม่โดยขอให้กรรมการแต่ละท่านทำความเห็นส่วนตัวลงในบันทึกรายงานการประชุมที่จะประชุมอันใกล้นี้

 

จากนั้นจะได้ขอให้ศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญหมายเรียกรายงานการประชุมจากสำนักงานป.ป.ช.ฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อจะได้ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับผู้ที่จงใจกลั่นแกล้งต่อไปเป็นการเฉพาะราย และในกรณีที่ใครไม่ออกความคิดเห็นไว้ในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้มีความเห็นในมติ 4 ต่อ 4 และชี้มูลความผิด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีจนถึงที่สุดต่อไป