ข่าวใหญ่โด่งดังสะเทือนวงการข้าราชการเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา หลัง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ถูกกล่าวหา เรียกรับส่วย โดยสังคมต่างจับตามอง เพราะสะท้อน ฯ ปัญหาคอร์รัปชั่นของข้าราชการไทย เรื่องนี้ดำเนินมากว่า 10 วันเเล้ว โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบอธิบดีกรมอุทยานฯ เเละสอบปากคำพยานบุคคลชุดแรก 1 ในนั้น คือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พยานปากสำคัญ
เมื่อตรวจสอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดบทลงโทษ พบว่า ผู้ให้และรับสินบน ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ โดยโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
ความผิดการให้และรับสินบน ตามกฎหมาย ป.ป.ช.
- มาตรา 173 เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของกฤษฎีกา องค์การระหว่างประเทศ ผู้ใด เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์สําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือ มิชอบด้วยหน้าที่ โทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
- มาตรา 174 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์ซึ่งได้เรียก รับ หรือยอมรับไว้ก่อนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่ง โทษจําคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
- มาตรา 175 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับ ตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ โดยทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยส่วนอิทธิพลของตน ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด โทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- มาตรา 176 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- กรณีผู้กระทําความผิดเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลนั้น ไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่ เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องโทษปรับตั้งแต่ 1 เท่าแต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
- นิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและ นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
- บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงผู้แทนของนิติบุคคล ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีหน้าที่และอํานาจในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
ความผิดการให้และรับสินบนตาม ประมวลกฎหมายอาญา
- มาตรา 143 ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000 - 40,000 บาท หรือประหารชีวิต
- มาตรา 150 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียกรับหรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้น โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000 - 40,000 บาท