แนะไม่ต้องเปลี่ยนป้าย "สถานีกลางบางซื่อ" ชื่อใหม่ใช้ในเอกสารราชการ

04 ม.ค. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 17:17 น.

"สุรเชษฐ์" แนะใช้ทั้ง 2 ชื่อสถานีกลางบางซื่อ ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนป้ายให้คนงง ชื่อใหม่ใช้ในเอกสารราชการ จับตาคมนาคม ใกล้เลือกตั้งขยันผิดปกติ ดันเมกะโปรเจกต์หลายแสนล้านผ่าน ครม. ทั้งที่งานเก่ายังไม่เสร็จ

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์เรื่องความเหมาะสมของการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท ระบุว่ามอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมตรวจสอบแล้ว เรื่องนี้มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบด้วย

 

จึงไม่ต้องกังวลว่า ตนขอโต้แย้งสิ่งที่รัฐมนตรีคมนาคมตอบ ประเด็นแรก ป้าย 33 ล้านบาท จะราคาแพงเกินไปหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมสงสัยเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สังคมสงสัยมากกว่าคือมีความจำเป็นอะไรถึงต้องเปลี่ยนป้ายจริงๆ เพราะโดยหลักการตั้งชื่อของสถานีขนส่ง ควรเป็นชื่อที่คนจำง่ายและทำให้รู้ว่าตำแหน่งของสถานีอยู่ตรงไหน เช่น สถานีรถไฟชินจูกุ (Shinjuku) ที่ตั้งอยู่ที่แขวงชินจูกุของกรุงโตเกียว สถานีกลางบางซื่อก็ตั้งอยู่ในเขตบางซื่อ กทม. ประชาชนคนต่างจังหวัด คนต่างชาติได้ยินชื่อก็นึกออกว่าต้องไปที่ไหน

 

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า  การเปลี่ยนป้ายใหม่กะทันหัน รัฐบาลต้องเสียงบประมาณไปทำป้ายสองครั้งโดยใช่เหตุ และชื่อใหม่ใช่ว่าจะดี กลับยิ่งทำให้ชื่อสถานีงงกว่าเดิม ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ง่ายมาก คือให้สถานีมีทั้ง 2 ชื่อ สำหรับชื่อสถานีกลางบางซื่อ ควรคงไว้เพราะเป็นชื่อที่ประชาชนจำง่าย ส่วนชื่อใหม่ให้ใช้ในเอกสารราชการ จะได้ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนป้ายให้งง 2 ต่อ  

 

 ประเด็นที่สอง ขอฝากให้ประชาชนติดตามการใช้เงินแบบแปลกๆ ที่รอบนี้มากกว่าแค่ 33 ล้านบาท หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเตรียมดัน 9 เมกะโปรเจกต์ วงเงินหลายแสนล้านบาทให้ผ่านคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปีนี้ก่อนเลือกตั้ง เป็นวิธีการที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช. น่าสังเกตว่า ช่วงก่อนเลือกตั้งกระทรวงคมนาคมจะขยันผิดปกติ รีบดันโครงการโดยไม่มั่นใจว่า ได้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจก่อปัญหาได้ในอนาคต

“การเร่งสร้างโดยไม่พร้อมก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-โคราช ใช้แบบเก่าจากปี 2551 มาอนุมัติให้สร้างในปี 2559 ตามแผนคือเสร็จปี 2563 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ เกิดเป็นช่องว่างต้องหางบมาอุดเพิ่มโดยวิธีการเจรจากับเจ้าเดิม งบบานงานช้าแต่โฆษณาเอาหน้าไปเรื่อย เลื่อนเปิดไปเรื่อย ๆ

 

แทนที่ตอนนี้รัฐบาลจะเร่งสร้างของเก่าให้เสร็จ ก็เอาแต่จะเร่งอนุมัติของใหม่ เราทุกคนจึงต้องตั้งคำถามว่าทำไมการอนุมัติโครงการเช่นนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง” สุรเชษฐ์กล่าว