“ส.ว.ประพันธุ์ คูณมี”ยกเคสสรรหา “กรรมการ กสทช.” สอนมวยตุลาการศาลปกครอง

03 ม.ค. 2566 | 17:56 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 01:10 น.

“ส.ว.ประพันธุ์ คูณมี” ยกเคสสรรหา “กรรมการ กสทช.” สอนมวยตุลาการศาลปกครอง เป็นทนายมาจะ 40 ปี ไม่เคยเห็นสั่งรับฟ้องคดี แล้วมาพลิกสั่งไม่รับฟ้องภายในไม่กี่วัน กังขาใช้ดุลยพินิจอย่างไร ถ้ามาตรฐานเป็นแบบนี้ น่าห่วงเรื่องศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาล

 

วันนี้ (3 ม.ค.66) ในการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) นัดแรกของปี 2566 มีวาระการพิจารณาเรื่องด่วน คือการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. (ตามข้อบังคับ ข้อ 105) และวาระพิจารณาเรื่องที่เสนอใหม่ ได้แก่ รายงานประจำปีงบประมาณ 2564 ของศาลปกครอง และ สำนักงานศาลปกครอง


นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นอภิปรายตั้งข้อเกตและเสนอแนะต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง ระบุว่า ศาลปกครองเป็นหลักให้บ้านเมือง แต่มีข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่น ความศรัทธา ของประชาชน ที่มีต่อศาลปกครองนั้น ถ้าหากมีบางเรื่องบางประเด็นที่ทำให้เกิดข้อสงสัย คลางแคลงใจ ข้อกังขาต่อศาลปกครอง ในลักษณะที่ทำให้เกิดความไม่น่าใจวางใจ จะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของศาลปกครอง


เรื่องที่ได้ปรับปรุงการทำงาน การทำหน้าที่ เร่งรัดการพิจารณาคดี พอเข้าใจและเห็นว่าพัฒนาไปเยอะ แต่หัวใจของศาลปกครองไม่ได้อยู่ที่ส่วนนั้น หัวใจสำคัญที่จะทำให้ศาลปกครอง เป็นที่เชื่อถือศรัทธา เป็นที่พึ่งของประชาชน และของมหาชนได้อย่างแท้จริง อยู่ตามตราสัญลักษณ์ของศาลปกครอง ซึ่งตราสัญลักษณ์ของศาลปกครอง มีความหมาย ความสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมกับประชาชน 

                            

และอีกประเด็นคือ วิสัยทัศน์ และ พันธกิจของท่าน ที่พูดถึงเรื่องการจะให้ความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผมเชื่อศาลปกครองมาโดยตลอด แต่เมื่อมาเจอกับอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องที่ผมได้ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวกับการสรรหา คณะกรรมการ กสทช. ที่มีการสรรหารอบแรก โดยรับสมัคร 7 ด้าน ได้ไป 5 ด้าน เหลืออีก 2 ด้าน ยังไม่ได้ คือ ด้านกฎหมาย และ โทรคมนาคม 


เมื่อมีการสรรหาครั้งใหม่ ก็มีผู้สมัครท่านหนึ่งที่เคยสรรหาด้านคุ้มครองผู้บริโภค แล้วไม่ได้ ก็ย้ายด้านมาสมัครด้านกฎหมาย และก็มีอยู่คนเดียว ผู้สมัครคนอื่นๆ ไม่มีใครบย้ายด้าน เพราะมีประกาศของคณะกรรมการสรรหาเองว่า ผู้สมัครที่เคยสมัครในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว จะมาสมัครอีกในด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ แต่ปรากฏในการสรรหาซ่อมผู้สมัครอีก 2 ด้าน ที่เหลือ มีผู้สมัครคนเดียวที่ย้ายด้านมาสมัครได้ แล้วกรรมการสรรหาก็คัดเลือกด้วย

 

“ผมจึงได้ฟ้องไปที่ศาลปกครอง ปรากฏว่า ศาลฯ วันที่ 10 ส.ค.2565 รับคำฟ้อง แล้วสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่คุ้มครองชั่วคราว ไม่ไต่สวนฉุกเฉิน ผมก็ไม่ว่า แต่อีก 20 วัน ท่านตุลาการศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อ้างว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย 


ผมจึงมีข้อกังขามากว่า ท่านตุลาการศาลปกครองที่สั่งรับคำฟ้อง กับ ที่มาสั่งไม่รับคำฟ้องในภายหลัง ใช้ดุลยพินิจอย่างไร และท่านได้ทำหน้าที่ตามอย่างที่ตาสัญลักษณ์ พันธกิจ และ วิสัยทัศน์ของท่านหรือเปล่า รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส ปรากฏ รวมเร็ว แต่ไม่ถูกต้อง และ ไม่เป็นธรรม ตรงกันข้ามกับคติพจน์ของศาลเลย”

 

นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า “ในชีวิตผม เป็นทนายความมาจะ 40 ปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นตุลาการสั่งรับฟ้อง แล้วมาอีก 20 วัน สั่งไม่รับฟ้อง อันนี้ทั้งที่ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบชัดเจน ผมจึงมีข้อสงสัยการใช้ดุลยพินิจของตุลาการศาลปกครองดังกล่าว” 

 

นายประพันธุ์  ยังระบุว่า ที่อภิปรายมาเป็นแต่เพียงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ากระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง เป็นมาตรฐานแบบนี้ คิดว่าน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องวิสัยทัศน์ เรื่องพันธกิจ เรื่องความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่จะมีต่อศาลปกครอง และอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าทุกเรื่องที่ท่านปรับปรุงมา 

 

ถ้ากระบวนการพิจารณายังมีข้อเคลือบแคลง น่าสงสัย และสั่นคลอนต่อศรัทธาของประชาชน คิดว่าถ้าจะปรับปรุง กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ต้องมีมาตรฐาน และ มีความถูกต้อง รวดเร็ว และ เป็นธรรม

 

“ผมเห็นว่าคนที่จะมาเป็น กรรมการร กสทช. ที่ดูแลผลประโยชน์ของชาตินับแสนๆ ล้าน นับล้านๆ ล้าน ควรจะมาด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และ ได้คนที่มีคุณธรรม มีความรู้ ความสามารถ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเท่านั้น และอยากให้เป็นบรรทัดฐานกับบ้านเมืองว่า ในการสรรหาใครเข้ามารับตำแหน่ง ควรคำนึงถึงกฎเกณฑ์ของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้ได้คนดีมารับใช้บ้านเมือง” นายประพันธุ์ ระบุ