"บิ๊กช้าง"แจงสภา ปมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง แจงงบซ่อมบำรุง 1,300 ล้านบาท

22 ธ.ค. 2565 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2565 | 00:44 น.
1.1 k

"บิ๊กช้าง" แจงสภา ปมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ระบุงบซ่อมบำรุงเฉลี่ย 1,300 ล้านบาท ยันเช็กสภาพอากาศก่อนออกแล้ว โยนกองทัพเรือตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังพลฝึกอยู่รอดในภาวะฉุกเฉิน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (22 ธ.ค.65) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง เรือรบหลวงสุโขทัยอับปาง ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงแทน

 

นายณัฐชา ถามถึงไทม์ไลน์การเกิดเหตุเรือล่ม อุปกรณ์ช่วยชีวิต ความพร้อมใช้งาน และการซ่อมบำรุงของ เรือหลวงสุโขทัย รวมถึงภารกิจสำคัญอะไรที่ถึงขนาดต้องนำเรือรบออกไปฝ่าคลื่นมรสุม ได้มีการตรวจสอบสภาพอากาศ จากกรมอุตินิยมวิทยาหรือไม่ ทั้งยังสอบถามถึงผู้รับผิดชอบ ที่เซ็นหนังสือให้เรือรบออกไปปฏิบัติภารกิจเสี่ยงชีวิต
 

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

 

พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า เกิดเหตุเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ประมาณเวลา 18.40 น. ได้มีการรายงานถึง รมว.กลาโหม และสั่งให้กองทัพเรือแก้ไขสถานการณ์ ควบคุมเรือหลวง และดูแลความปลอดภัยของกำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจในเรือหลวงดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศขณะนั้นแรงมาก เรือได้ฝ่าคลื่นลมไปและมีน้ำเข้าเรือและเข้าสู่เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุไม่สามารถควบคุมเรือได้ ส่งผลให้น้ำเข้าสู่เรืออย่างรวดเร็ว ได้สั่งให้เรือรบหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบหลวงอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ 105 คน มีการขนกำลังพลไปอยู่ที่กาบเรือ เพื่อขึ้นเรือที่เข้าไปช่วยเหลือ กำลังพลได้ขึ้นเรือได้ 75 คน ทำให้ส่วนที่เหลืออีก 30 นาย ไม่สามารถขึ้นเรือได้ ภายหลังขนหาเจอ 7 ราย โดย 6 รายเสียชีวิต และ1 รายมีชีวิตอยู่

 

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า อุปกรณ์ช่วยชีวิต โดยปกติจะมีอัตราประจำเรือ ส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ชูชีพส่วนบุคคล แพชูชีพ และชูชีพเป็นวง แต่แพชูชีพปล่อยไม่ได้เพราะคลื่นทะเลแรง แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ที่นำไปช่วยก็ทำได้ยาก เพราะเรือและเสากระโดงโคลงเคลง

 

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าภายในเรือหลวงสุโขทัยมีเสื้อชูชีพครบหรือไม่ ได้สั่งให้กองทัพเรือไปตรวจสอบให้กระจ่างและชี้แจงต่อสังคมแล้ว การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย ได้ซ่อมบำรุงใหญ่เมื่อ ปี2561-2563 และรับกลับมาปี 2564 งบประมาณซ่อมบำรุงที่กองทัพเรือได้รับ โดยเฉพาะกับการซ่อมบำรุงเรือ เฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านบาท สำหรับปี 2566 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ อายุการใช้งานเรือของกองทัพเรือเฉลี่ยส่วนใหญ่เกิน 30 ปีขึ้นไป ส่วนอายุเรือรบหลักๆ อยู่ที่ 40 ปี ฉะนั้น สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้เรืออับปางต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวอีกว่า เรือกระบุรีได้เตรียมเครื่องมือแพยาง ซึ่งมีอยู่ 8 แพ และเรือเล็ก แต่ด้วยสภาพคลื่นลมทำให้ไม่สามารถส่งลงไปได้ ในวันที่ 18 ธ.ค. เรือรบหลวงสุโขทัยปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน ในสภาพอากาศที่เป็นคลื่นลมแรง และก่อนจะออกภารกิจก็จะประเมินสถานการณ์จากข้อมูลของกรมอุตุฯ

 

นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกซ้อมตลอดเวลา และก่อนออกเรือจะชี้แจงกำลังพลถึงการปฏิบัติงานบนเรือ แต่กรณีกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปชุมพร ต้องให้กองทัพเรือเข้าไปสอบข้อเท็จจริงว่ากำลังพลเหล่านั้นได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และปฏิบัติตัวอย่างไร เรื่องการอยู่รอดในภาวะฉุกเฉินมีการฝึกตามวงรอบอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางในทะเล บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้มีกำลังพลหลายนายสูญหาย บางนายเสียชีวิต โดยต่อมา พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ให้สัมภาษณ์ว่า มีกำลังพลอย่างน้อย 30 นาย ที่ไม่มีเสื้อชูชีพ

 

หลังตรวจสอบฐานข้อมูล จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565) พบว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2558-2565 กองทัพเรือ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง “เสื้อชูชีพ” อย่างน้อย 47 รายการ รวมวงเงิน 26.43 ล้านบาท ดังนี้

 

ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 2 รายการ วงเงิน 2.01 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 6 รายการ วงเงิน 1.61 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 4 รายการ วงเงิน 1.40 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 9 รายการ วงเงิน 4.36 ล้านบาท

 

ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 8 รายการ วงเงิน 5.23 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 5 รายการ วงเงิน 3.88 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 5 รายการ วงเงิน 3.12 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 8 รายการ วงเงิน 4.82 ล้านบาท