ย้อนรอยประวัติศาสตร์เรือรบไทย มีนัยยะอย่างไรกับชะตาเมือง อ่านเลย

22 ธ.ค. 2565 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2565 | 16:37 น.
1.5 k

ย้อนรอยประวัติศาสตร์เรือรบไทย มีนัยยะอย่างไรกับชะตาเมือง อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังพล.น.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ไล่เรียงเหตุการณ์ในอดีตถึงปัจจุบัน

เรือหลวงสุโขทัยอับปางลงกลางทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่คืนวันที่ 18 ธ.ค. 65 โดยมีกำลังพลที่สูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า 30 นาย 

 

ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตกรณีเรือหลวงสุโขทัยอยู่ที่ 6 ราย สูญหาย 23 ราย จากยอดกำลังพลทั้งสิ้น 105 ราย

 

พล.น.ต.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุว่า 

 

เรือรบไทยมีอาถรรพณ์? 

 

เรื่องนี้ไม่ใช่ “ทาง” ของผม 

 

แต่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ผมก็เก็บเอามาตรึกตรองตามวิสัยของมนุษย์ซึ่งจะต้องคิดอะไรต่อมิอะไรเป็นธรรมดา

 

เพราะฉะนั้น อย่าคิดอะไรมาก คิดเล่นๆ เขียนเล่นๆ อ่านกันเล่นๆ เท่านั้นพอ

 

เรือหลวงหรือเรือรบแห่งราชนาวีไทยมีหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อตามภารกิจของเรือแต่ละลำ ผมไม่ได้ศึกษารายละเอียด จึงบอกหลักเกณฑ์นั้นไม่ได้

แต่สังเกตเห็นว่า มีเรือที่ตั้งชื่อตามยุคประวัติศาสตร์ของชาติ 4 ลำ คือ 

  • เรือหลวงสุโขทัย 
  • เรือหลวงศรีอยุธยา 
  • เรือหลงธนบุรี 
  • เรือหลวงรัตนโกสินทร์

 

เรือหลวงธนบุรี
เกิดอะไรขึ้นกับเรือทั้ง 4 ลำ?

 

เรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดเป็นดังนี้ 

  • เรือหลวงธนบุรี ถูกโจมในการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เรียกว่า “ยุทธนาวีเกาะช้าง” เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ได้รับความเสียหายอย่างหนัก-ไม่จมก็เหมือนจม-จนต้องปลดระวาง

 

  • เรือหลวงศรีอยุธยา จมด้วยฝีมือไทยด้วยกันเอง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน

 

เรือหลวงศรีอยุธยา

 

  • เรือหลวงสุโขทัย จมในอ่าวไทยที่บริเวณบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 อันเนื่องมาจากสภาพคลื่นลมแรง

 

  • เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ยังประจำการอยู่ในราชนาวีไทยเป็นปกติ

ดูตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

  • พ.ศ. 2484 เรือหลวงธนบุรี 
  • พ.ศ. 2494 เรือหลวงศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2565 เรือหลวงสุโขทัย 

 

เรือหลวงสุโขทัย

เทียบกับยุคประวัติศาสตร์ของไทยก็คือเกิดขึ้นย้อนยุค

เริ่มที่กรุงธนบุรี

 

ถอยขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา

 

ถอยขึ้นไปกรุงสุโขทัย

 

ดูตามช่วงเวลา ก็มีนัยที่ผกผันน่าสังเกต

 

ลำดับเหตุการณ์เหมือนเมืองหลวงมองขึ้น

 

ช่วงเวลาระหว่างเหตุการณ์หนึ่งถึงเหตุการณ์หนึ่งเหมือนอายุเมืองหลวงมองลง

  • จากเหตุการณ์เรือหลวงธนบุรี ถึงเหตุการณ์เรือหลวงศรีอยุธยา เป็นเวลา ๑๐ ปี อายุกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕ ปี
  • จากเหตุการณ์เรือหลวงศรีอยุธยา ถึงเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย เป็นเวลา ๗๑ ปี อายุกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงธนบุรี ๔๑๗ ปี

 

เพราะฉะนั้น อายุกรุงสุโขทัยถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลากี่ปี ก็จะเป็นช่วงเวลาโดยประมาณ-จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดกับเรือหลวงที่มีชื่อตามยุคประวัติศาสตร์ของชาติลำต่อไป ซึ่งก็คือ-เรือหลวงรัตนโกสินทร์ นั่นหมายถึง-ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเรือหลวงอีก

 

เรือหลวงรัตนโกสินทร์

ซึ่งนั่นก็จะเป็นอายุโดยประมาณระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์กับเมืองหลวงของไทยที่จะเกิดใหม่ในอนาคต นั่นหมายถึง-ถ้าจะมีที่ไหนเป็นเมืองหลวงใหม่อีก

 

ที่น่าสังเกตก็คือ ถ้านับย้อนยุคประวัติศาสตร์ ก็จะต้องเป็น-รัตนโกสินทร์ < ธนบุรี < อยุธยา < สุโขทัย

 

ตามนัยนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์กับเรือ ก็น่าจะเกิดกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ก่อน แล้วจึงไป > เรือหลวงธนบุรี > เรือหลวงศรีอยุธยา > เรือหลวงสุโขทัย ตามลำดับที่เกิดจริง

 

แต่กลับข้ามลำดับ ไปเกิดกับเรือหลวงธนบุรีก่อน

 

เรือหลวงรัตนโกสินทร์ยังประจำการอยู่ในราชนาวีไทยเป็นปกติสุขทุกประการ

 

มีนัยสำคัญอย่างไรกับชะตากรรมของบ้านเมือง?

 

ผมไม่รู้ บอกแล้วว่า เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ทางของผม

 

ได้แต่คิดเอาเองว่า รักษาระยะห่างของเหตุการณ์ระหว่างเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ไว้ได้นานเพียงไร นั่นแหละคืออัตราส่วนอายุของกรุงรัตนโกสินทร์

 

และถ้าสามารถดูแลรักษาใช้งานเรือหลวงรัตนโกสินทร์ไปได้ตามปกติจนหมดสภาพไปเอง ปลดระวางตามอายุขัย ก็จะเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งนัก เพราะเป็นนัยว่า กรุงรัตนโกสินทร์ของเราก็จะมั่นคงยั่งยืนไปชั่วกาลนานเทอญ-เช่นเดียวกัน

 

แต่ในอนาคต ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง

 

รู้แต่ว่า วันนี้ 

 

รักษาเรือหลวงรัตนโกสินทร์ไว้ได้

 

รักษากรุงรัตนโกสินทร์ไว้ได้

 

ที่มาภาพ : เฟสบุ๊ก ทองย้อย แสงสินชัย