“วัชระ”ยกกลอนสุนทรภู่เตือนใจคกก.จริยธรรม วุฒิสภา ปม “กิ๊ก ส.ว.”

13 ธ.ค. 2565 | 17:38 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 00:45 น.

“วัชระ”ส่งคำแถลงการณ์กรณี “กิ๊กส.ว.” ให้ “สิงห์ศึก” พร้อมยกคำกลอนสุนทรภู่เตือนใจคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา


วันนี้ (13 ธ.ค.65) ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำแถลงการณ์ผ่านเจ้าหน้าที่งานสารบรรณถึง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา เรื่องร้องเรียนกรณีสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)  มีส่วนก้าวก่าย หรือ แทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทหาร เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ และมีส่วนรู้เห็น หรือ สนับสนุน “ส.ต.ท.หญิง” กระทำการทารุณทหารหญิงหรือไม่ อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม 


จากกรณี นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง และ นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ พลเมืองดีมีความกล้าหาญได้พาอดีตทหารหญิงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง ที่กล่าวอ้างเป็นภรรยาสมาชิกวุฒิสภา (กิ๊ก ส.ว.) ซึ่งเป็นนายจ้างของตนบังคับใช้แรงงานและทำร้ายร่างกาย 
เช่น ถูกตบตีตามร่างกายจนปากแตกเลือดออกแล้วถูกเอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาราดแผลในปาก ถูกเครื่องช็อตไฟฟ้าตามร่างกาย ใช้ไม้หน้าสามตีที่ใบหน้า เป็นต้น รวมทั้งยังมีข้อหาค้ามนุษย์ด้วย 

 

เหตุเกิดที่จังหวัดราชบุรี และ ส.ต.ท.หญิง มีชื่อมาช่วยงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าโดยมีการเบิกเบี้ยเลี้ยงและได้วันเพิ่มวันทวีคูณ ทั้งที่ไม่ได้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด 


อีกทั้งที่ผ่านมาอดีตทหารหญิงยังต้องเป็นทหารรับใช้ ส.ต.ท.หญิง อีกด้วย โดยมีประจักษ์พยานหลักฐานสำคัญที่เปิดเผยต่อสาธารณชน คือ แผ่นป้ายโลหะจารึกการทำบุญร่วมกันที่วัดบางลี่เจริญธรรม ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ระบุชื่อคุณธานี อ่อนละเอียด และคุณกรศศิร์ บัวแย้ม บริจาค 120,000 บาท ที่ติดในศาลาดำรงค์สกุล (ศาลาอเนกประสงค์) นั้น ย่อมเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักจารึกติดตราตรึงไว้ ณ วัดแห่งนั้น 


อันมีนัยสำคัญบ่งบอกได้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา (ตำแหน่งปัจจุบัน) เป็นกิ๊กกับส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ในห้วงเวลาแห่งความรักนั้น จึงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนถึงการเข้ารับราชการตำรวจดังกล่าวข้างต้นว่า ใช้อภิสิทธิ์ใดเข้ารับราชการ และกระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและกฎ ระเบียบวินัยของข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่ตนมีชื่อไปช่วยราชการแต่อย่างใด 


ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ส่งให้ตน พบว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม มีประวัติการทำงานในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภา ดังนี้


1. สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (31 กรกฎาคม 2557 –21พฤษภาคม 2562)


1.1 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 2 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2561

 

โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 6,777 บาท และจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 4,430 บาท และศึกษาดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง คือ ร่วมเดินทางไปประชุมทวิภาคี ณ สหพันธรัฐรัสเซีย

 

- สาธารณรัฐฟินแลนด์ ระหว่างวันที่7-16  เมษายน 2561 โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 60,900 บาท และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประสานงานทำหนังสือเดินทางของราชการไปต่างประเทศให้ด้วย


1.2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 4,500 บาท


1.3 เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรวุฒิบัตรการปฏิบัติงานสนับสนุนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า ลำดับที่ 1ปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงระยะเวลาสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น นางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม และคู่กรณีได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นตำรวจชั้นประทวนและทหารชั้นประทวนตามลำดับ 


และย้ายไปสังกัดตำรวจสันติบาลและมีชื่อไปราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่มีการปฏิบัติหน้าที่จริงในทุกตำแหน่ง แต่กลับได้รับเงินเดือนและเงินพิเศษต่าง ๆ นั้น หากไม่มีอำนาจและอิทธิพลของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพวก และรวมถึงผู้บังคับบัญชาข้าราชการต้นสังกัดกระทำการร่วมมือด้วย ย่อมไม่สามารถกระทำการได้ 


เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นจิตใจประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศ ผู้วิ่งเต้น ผู้บรรจุแต่งตั้งกิ๊ก ส.ว. และคนรับใช้ ส.ว. จึงกระทำการในขณะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 6 ที่ระบุว่าให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาและรัฐสภาและกระทำในขณะที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเป็นนายกรัฐมนตรี

                                    “วัชระ”ยกกลอนสุนทรภู่เตือนใจคกก.จริยธรรม วุฒิสภา ปม “กิ๊ก ส.ว.”
2. สมัยวุฒิสภา (11 พฤษภาคม 2562 – 15 กันยายน 2565)


2.1 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา โดยได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 6,000 บาท


2.2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนและร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายในประเทศ 1 ครั้ง คือ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองประมาณ 1,090 บาท


3. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยงานธุรการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภาไม่ได้เปิดเผยว่า ผู้ใดเป็นผู้เสนอชื่อส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นปรึกษากิตติมศักดิ์ เลขานุการ นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ รวมทั้งการศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศร่วมกับคณะกรรมาธิการดังกล่าวข้างต้น และเข้าอบรมหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า

 

ทั้งที่จบวุฒิการศึกษาเพียงระดับ ปวส.ด้านการบัญชี เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่ข้าราชการตำรวจที่มียศเพียงแค่ส.ต.ท.หญิงจะสามารถกระทำได้โดยลำพัง หากไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับพวกหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบงานของทางราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ดังกล่าว ย่อมไม่สามารถกระทำได้


ตนได้สอบถามไปยังสถาบันพระปกเกล้าแล้วว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่ามีใครเป็นผู้เซ็นรับรองการส่งนางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม เข้าอบรมหลักสูตรดังกล่าว แต่สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งควรกล้าหาญทางจริยธรรมกลับปกปิดข้อมูลไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ทราบ ทั้ง ๆ เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศตั้งข้อสงสัย 

 

นายวัชระ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้ง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา จำนวน 3 ฉบับลงวันที่ 5,15 และ 29 กันยายน 2565 เพื่อชี้ช่อง หรือ เบาะแสการสืบสวนกรณีนี้ อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 7-9 ข้อ 12-13 ข้อ 18,20,22,30,32,35,36 จึงขอยืนยันตามคำให้การและคำแถลงการณ์ที่ส่งมานี้ 


จึงขอให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ และหากการส่งคำแถลงการณ์นี้เกินเวลาที่กำหนด จะไม่นำมาพิจารณาก็ไม่ติดใจอะไร เพราะได้ชี้ช่องข้อเท็จจริงและหลักฐาน และให้การดังกล่าวต่อคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จะวินิจฉัยและลงมติตามอำนาจหน้าที่ด้วยหลักธรรมภิบาลต่อไป พร้อมกันนี้ขอยกคำกลอนสุนทรภู่ในตอนหนึ่งว่า


“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก 


แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน


ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน


แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”


กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก 'พระอภัยมณี'