วันนี้(20 พ.ย.65) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค อดีตรมช.มหาดไทย นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง และคณะ “จุรินทร์ ออนทัวร์ จังหวัดชายแดนใต้” เข้าร่วมงานประชุมสมาชิกพรรคในหัวข้อ "รวมพลังประชาธิปัตย์ ปลายด้ามขวาน" ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. 12 เขต ของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เดินทางมาร่วมทำกิจกรรมกับพี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้อยู่บ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำหรับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้กับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คนอื่นไกล เราเป็นพี่น้องกันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนไทย เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” นับเนื่องมาอย่างยาวนาน
“ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องความมั่นคงยังมีอยู่ แต่ยังมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นซึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาธิปัตย์มีนโยบาย “พัฒนานำปืน” เพราะการพัฒนาคือหัวใจ และการพัฒนาต้องทำในหลายมิติทั้งเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องอาชีพความเป็นอยู่ ที่จะขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเห็นพี่น้องประชาชนมีอาชีพ มีอนาคต ที่ตรงกับความต้องการของตลาดและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้มีศักยภาพเฉพาะการประกอบอาชีพ แล้วนำสินค้าออกมาขายในประเทศไทยเท่านั้น แต่พวกเราทุกคนมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้า บริการ ส่งไปขายตลาดโลกได้ โดยเฉพาะทุเรียน ลองกอง มังคุด จะเป็นอนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเรามีตลาดใหญ่ที่สุดที่รองรับทุเรียนจากประเทศไทย คือ ตลาดจีน
“เมื่อวานผมเข้าร่วมประชุมเต็มคณะกับท่านนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่ทำเนียบรัฐบาล สิ่งหนึ่งที่ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้หยิบยกขึ้นมาพูดกับพวกเรา นั่นก็คือ จีนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนทุเรียนและผลไม้จากประเทศไทย รวมทั้งจังหวัดชายแดนใต้ของเราด้วยถ้าเรามีผลผลิตที่ดีคุณภาพ”
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องปศุสัตว์ จากการที่ตนนำคณะเอกชนไปขายสินค้าให้ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพียงเที่ยวเดียวสามารถทำรายได้ถึง 13,500 ล้านบาท หัวใจสำคัญอันหนึ่งจากการเจรจาคือ ซาอุฯ พร้อมที่จะซื้อสินค้าปศุสัตว์จากไทย ไม่ว่าจะเป็นวัว แพะ หรือไก่ และโดยเฉพาะไก่ต้มสุก ที่ประเทศไทยสามารถส่งออกไปได้แล้ว ซึ่งแปลว่าเรามีตลาดฮาลาลที่ใหญ่มากรองรับ และนั่นจะเป็นประตูไปสู่ทวีปตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์คิดถึงพวกเรา และคิดในเชิงพัฒนา รวมทั้งคิดแก้ปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ในเรื่องประมง วันนี้เราเหลือแต่ประมงพื้นบ้าน แต่ประมงพาณิชย์ที่ช่วยให้พี่น้องมีงานทำ และช่วยให้เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนขับเคลื่อน วันนี้เกือบจะเรียกว่าเป็นศูนย์
ดังนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์กลับมามีโอกาสขับเคลื่อนดูแลเรื่องประมง ดูแลเรื่องคณะกรรมการประมงแห่งชาติ เราจะฟื้นประมงพาณิชย์ให้อยู่คู่กับประมงพื้นบ้านอีกครั้ง เพื่อฟื้นชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของโลก นี่คือ ความหวังและในโลกความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ภายใต้นโยบายประชาธิปัตย์
“มุสลิมกับประชาธิปัตย์มีความผูกพันกันมาเนิ่นนาน นอกจากเรามีอดีตจุฬาราชมนตรีท่านหนึ่งเคยเป็นผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ท่านสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ แล้ว เรายังมีท่าน เล็ก นานา อดีตเลขาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ มี ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ นักการเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ของประเทศและของภูมิภาค เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไปจนถึงการเป็นเลขาธิการอาเซียน ถือว่าท่านเป็นผู้ที่สร้างชื่อเสียงและสร้างความภาคภูมิใจให้พี่น้องชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก”
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า เราพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็จับมือกับทุกคนในการเดินหน้าพาพี่น้องไปสู่ความสงบ และความสุขต่อไปในอนาคต แม้แต่ไทยพุทธ เราก็ไม่ได้ทิ้ง ไม่ได้แยกศาสนา เราต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นโยบายประกันรายได้ ไม่แยกพุทธ-มุสลิม ใครเป็นเกษตรกรเมื่อราคายางดี ราคาปาล์มดี ราคาข้าวดี พี่น้องเอาเงินไปทั้งหมด แต่ภายใต้นโยบายประชาธิปัตย์ ถ้าวันไหนราคาตกต่ำ เรามีเงินชดเชยให้ที่เรียกว่าเงินส่วนต่าง ไม่แยกพุทธ ไม่แยกมุสลิม ได้ทุกคน เพราะนี่คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์ตั้งใจดูแลพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้ คนใต้ทั้งประเทศ และคนไทยทั้งประเทศ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ต่อมา นายจุรินทร์ ได้เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย
จ.ปัตตานี 4 คน
- นายสนิท นาแว อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปัตตานี
- นายมนตรี ดอเลาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะกรูด และนายกเทศมนตรี ตำบลมะกรูด
- ดร.ยูนัยดี วาบา ผอ.โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อ.สายบุรี อุปนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนภาคใต้
- ส.อ.สุริยา กูทา อดีตกำนันตำบลกระโด
จ.นราธิวาส 5 คน
- นายวัสสันต์ ดือเระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางปอ
- นายเมธี อรุณ ศิลปินนักร้องนำ ลาบานูน
- นายสุลัยมาน มะโซ๊ะ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส
- นายไซดี เจ๊ะหามะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. นราธิวาส อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุข จ.นราธิวาส
- นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 5 สมัย
จ.ยะลา 3 คน
- นายประสิทธิ์ชัย พงษ์สุวรรณศิริ กก.บห. หจก.พงษ์ไทย และ บ.มิตรทองสงขลา
- นายอับดุลเล๊าะ บุวา อดีตผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดยะลา
- นายณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส. จังหวัดยะลา
“จังหวัดชายแดนภาคใต้คราวที่แล้วเราได้ที่นั่งเดียว แต่ครั้งหน้าผมมั่นใจว่าเราได้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ขอยืนยันร่วมกับเลขาธิการพรรค ร่วมกับท่านนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค ผู้รับผิดชอบจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์สู้ทุกเขต และเราเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนในที่นี้ มีโอกาสปักธงประชาธิปัตย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอพี่น้องอย่าทิ้งพวกเรา และพวกเราประชาธิปไตยไม่เคยทิ้งพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะประชาธิปัตย์ คือ พรรคของเรา คือ พรรคของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สมัครทุกคนก็เป็นคนของเรา เป็นคนของพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ผมจึงพา 12 คนของเรา พรรคของเรา มาคารวะและขอหัวใจสนับสนุนจากพี่น้องชายแดนใต้ทุกคน” นายจุรินทร์ ระบุ
ด้าน นายนิพนธ์ รองหัวหน้าพรรคปชป. ได้ขึ้นปราศัยบนเวที ในหัวข้อ “77 ปีประชาธิปัตย์ รากฐานของการพัฒนาคน พัฒนาชาติ “ โดยพูดถึงภาพรวมของนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินมาตั้งแต่อดีต ทั้งการศึกษา สวัสดิการต่างๆ ล้วนแต่เป็นเรื่องของการวางรากฐาน ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เป็นการพัฒนาชาติได้อย่างยั่งยืน
สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่พื้นที่นี้ขาดโอกาสในการพัฒนาเนื่องจากปัญหาความไม่สงบทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างที่ควรจะเป็น
“วันนี้ประชาธิปัตย์ชูยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะครอบคลุมทั้งหมดในภาคการเกษตร ภาคธุรกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน อันเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”