เปิดที่มา "นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์" โมเดลแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกของไทย

09 พ.ย. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 08:19 น.
721

เปิดที่มา แนวคิดการจัดตั้ง "นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์" นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ หลังโครงการแรกเนื้อที่ 4,131 ไร่ ใน จ.สมุทรสาคร ติดปัญหาที่ดินเขตสีเขียว

ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกของไทย ถูกพูดถึงกันมานานควบคู่ไปกับการหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวโดยผลงานทางวิชาการต่างมีข้อสรุปตรงกันว่า ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการใช้กฎหมายอาญามากเกินความจำเป็น การใช้มาตรการทางอาญาและการบังคับใช้โทษจำคุกกับผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบโดยเฉพาะในคดียาเสพติด

 

รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างพิจารณาคดีทั้งที่คดีไม่ถูกตัดสินเพราะผู้ต้องหาไม่มีเงินประกันตัว ส่งผลมีผู้ต้องขังมากเกินศักยภาพการรองรับของเรือนจำที่มีอยู่ โดยไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน จำนวนผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำแต่ละแห่งรองรับได้

 

กรมราชทัณฑ์ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ต้องขัง ทำให้กระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่  ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปจำนวนมาก จึงกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีก เพราะเมื่อออกไปแล้ว ไม่สามารถหางานทำได้ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ไม่มีรายได้ จนบางส่วนตัดสินใจกลับไปกระทำความผิดซ้ำได้ ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนมากต้องการจะกลับไปใช้ชีวิตปกติ

 

โดยงบประมาณปี 2565 กรมราชทัณฑ์ มีค่าใช้จ่ายเฉพาะงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขังสูงเกือบ 4,500 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับผู้ต้องขังนั้นใช้งบ  206 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มีทั้งข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาผู้ต้องขับล้นเรือนจำซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ การใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เช่น ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ในการจำกัดพื้นที่แทนการจำคุก มาตรการคุมประพฤติ บำเพ็ญประโยชน์ ให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัด รวมถึงการปรับปรุงการใช้กฎหมายอาญาให้เหมาะสม เป็นต้น  

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 – เมษายน 2563 พบว่า ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ จำนวน 3,865 คน เมื่อดูจากสถิติการปล่อยตัวของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2561 พบว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นคดีที่มีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 63.02 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562)

 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อแก้ปัญหาการกระทำความผิดซ้ำอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงยุติธรรม และ กรมราชทัณฑ์ จึงมีโครงการจัดตั้ง "นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์" ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ผู้พ้นโทษและผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษได้มีงานทำ และหากทำงานได้ดีก็จะได้รับการจ้างงานต่อทันทีที่พ้นโทษ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

1.นิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. (ที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น) คือ กระทรวงยุติธรรม หาพื้นที่ที่เหมาะสม อาจเช่าที่ราชพัสดุ พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เปิดพื้นที่ให้สถานประกอบการเช่าใช้ประกอบการหรือเปิดเชิญชวนเอกชนที่สนใจ อาจมีสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุน  และจัดพื้นที่บริเวณที่พักอาศัยรองรับผู้กระทำผิด

 

2. นิคมภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์) กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุจากกรมราชทัณฑ์ในราคาถูกแล้วเชิญชวนเอกชนมาร่วมทุน รัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารและพื้นที่อาศัยผู้กระทำผิด เอกชนลงทุนเครื่องจักร วิธีการผลิตและแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์ อาจมีการร่วมลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรหรือนิคมอุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ

 

3.การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยเชิญชวนผู้ปรกอบการที่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดหาที่ดินของเอกชนและพัฒนาเป็นนิคม โดยมีสิทธิประโยชน์จูงใจพิเศษในกรณีที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว

 

นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์แห่งแรกสะดุด 


ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำและสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า กนอ.ได้เชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในรูปแบบร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ซึ่งมีภาคเอกชน 1 ราย เสนอโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พื้นที่ประมาณ 4,131 ไร่ ในท้องที่ ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

 

จากการตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร พบว่า พื้นที่ตั้งโครงการฯอยู่ในเขตผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถูกกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีเขียว และที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมหรือเขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว กนอ.จึงให้บริษัทเอกชนดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม 

 
ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาคร พิจารณากำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าหรือเขตสีม่วง เพื่อกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครได้แจ้งว่า ได้แจ้งให้เทศบาลนครสมุทรสาครดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองสมุทรสาคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3)


นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรสาครเร่งการพิจารณาการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยด่วนเนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว