"วราวุธ" กำชับ กรมควบคุมมลพิษ ติดตามปัญหามลพิษ ในพื้นที่น้ำท่วมขัง

14 ต.ค. 2565 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2565 | 20:58 น.

วราวุธ กำชับ กรมควบคุมมลพิษ ติดตามปัญหามลพิษ ในพื้นที่น้ำท่วมขังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย พร้อมจัดเตรียมพื้นที่สำรอง

วันที่ 14 ต.ค. 2565 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. ภายใต้ศูนย์อำนวยการและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศอป.ทส.) ได้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนตามนโยบายนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 โดย คพ.ได้ดำเนินการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมตามแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในสภาวะอุทกภัย รวมถึงการจัดเตรียมพื้นที่สำรอง (หรือพื้นที่จัดขยะของ อปท.ใกล้เคียง) เพื่อรองรับขยะมูลฝอยในช่วงประสบภัยน้ำท่วมสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย พิจารณาการก่อสร้างคันดินโดยรอบสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้มีความสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง

 

รวมทั้งการเตรียมกำลังคนสำรองเพื่อเก็บขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม การจัดเตรียมแผนเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่สูง 
 

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยได้รับผลกระทบจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ทม.สิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ทต.เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ทต.นครหลวง ทต.แม่ลา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อบต.หนองอึ่ง จังหวัดศรีสะเกษ ทต.ยะวึก ทต.ดอนแรด จังหวัดสุรินทร์ และอบต.ไร่ใต้ อบต.ท่าไห จังหวัดอุบลราชธานี

 

โดยสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าวได้มีมาตรการป้องกันขยะมูลฝอยกระจายออกไปสู่พื้นที่ข้างเคียง และนำขยะมูลฝอยไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้รับผลกระทบ ที่รายงานมายังระบบฐานข้อมูลระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน DSPOT รวม 7 แห่ง ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย ทต.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ทต.สรรพยา จ.ชัยนาท จำนวน 2 แห่ง ทม.สระบุรี ทต.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ทน.อุบลราชธานี และทม.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 

สำหรับการดำเนินการหลังอุทกภัย  อปท. จะดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับความเสียหาย และสำรวจตรวจสอบความเสียหายของเครื่องจักรและอุปกรณ์รวมทั้งระบบไฟฟ้าของสถานีสูบและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อซ่อมบำรุงให้สามารถใช้งานได้ต่อไป

 

และ คพ.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม และอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสำรวจคุณภาพน้ำหลังเกิดอุทกภัย หรือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน จัดเตรียมน้ำหมักชีวภาพให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหาผลกระทบกลิ่นจากน้ำเน่าเสีย ในพื้นที่น้ำท่วมขังหลังน้ำลด ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังเน่าเสีย โทรแจ้งสายด่วน 1650 นายปิ่นสักก์ กล่าว