"พิมพ์รพี"เสนอ 3 แนวทางสกัดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยกราดยิงหนองบัวลำภู

07 ต.ค. 2565 | 16:26 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2565 | 23:37 น.

"พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล"เสนอ 3 แนวทางสกัดโศกนาฏกรรม ไม่ให้เกิดซ้ำรอยเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ทบทวนก.ม.ยาเสพติด ผู้เสพคือผู้ป่วย อ่อนเกินไปหรือไม่-ตรวจสุขภาพจิตจนท.ที่ครอบครองอาวุธทุก 6 เดือน-ติดตั้งหวอดฉุกเฉินในชุมชน ใช้ค่ายทหารบำบัดยาเสพติด

ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า มี 3 ประเด็นที่ผู้มีอำนาจควรนำมาคิดทบทวน ไปจนถึงเพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุ คือ 


1. ในสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มีผลจากยาเสพติด ที่ผู้ก่อเหตุติดยาฯ มายาวนาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ที่เราพบว่า คนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย ตามนิยามของกฎหมายยาเสพติดใหม่ว่า "ผู้เสพคือผู้ป่วย" ประกอบกับมีการกำหนดปริมาณยาเสพติดในครอบครองว่า ถ้าไม่เกิน 15 เม็ด ให้ถือเป็นผู้เสพ ก็อาจต้องมาทบทวนหรือไม่ว่า กลายเป็นช่องโหว่อะไรหรือไม่ 

การบำบัดผู้ติดยาเสพติด จะต้องมีความละเอียดมากขึ้น ก่อนที่จะปล่อยคนเหล่านั้นคืนสู่สังคม ระดับความก้าวร้าวเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นเราก็จะต้องมานั่งถอดบทเรียนซ้ำซากแบบไม่เกิดประโยชน์ จึงควรหันมาวางระบบที่เข้มแข็งเพื่อสกัดแต่ต้นทางดีกว่า  


2. กรณีการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ถือครองอาวุธ ต้องมีการตรวจสุขภาพจิตทุก 6 เดือน เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า มีใครอยู่ในภาวะเครียด อย่างไร หรือไม่ แนวทางเมื่อตรวจพบว่า มีปัญหาด้านสุขภาพจิต หน่วยงานจะต้องดำเนินการอย่างไร แบบนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง 

และ 3. มาตรการดูแลความปลอดภัยในชุมชน โดยเฉพาะสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนเปราะบาง เช่น โรงเรียนที่มีเด็ก ๆ อยู่ รพ.สต.ที่มีผู้ป่วยไปใช้บริการ ควรมีปุ่มฉุกเฉิน เหมือนหวอดรถฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุกดปุ่มนี้ดังไปทั่วตำบล หมู่บ้าน แม้เจ้าหน้าที่มาไม่ทันท่วงที แต่คนในชุมชนยังมีโอกาสที่จะดูแลกันเองได้


"เราถอดบทเรียนกันมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว สุดท้ายหลังเกิดเหตุทุกอย่างก็หายไปกับสายลม ขอให้เคสนี้นำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะการถอดบทเรียนที่ดีที่สุด คือ ทำให้ไม่มีบทเรียนใดให้ต้องมานั่งถอดอีก" ดร.พิมพ์รพี กล่าว


ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องของยาเสพติดที่ต้องยอมรับความจริงว่า มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง อย่างเช่น ที่กระบี่ จะเห็นเหตุร้ายหลายเรื่องเกิดจากผู้เสพยาทั้งสิ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า บางหมู่บ้านมีผู้เสพยาเกือบ 100% เรียกว่า สุด ๆ แล้ว จะแก้ปัญหานี้ ครอบครัวต้องเข้มแข็ง ชุมชนต้องมีความเข้าใจ ภาครัฐต้องเอาจริง เอาจัง ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป โศกนาฏกรรมก็จะไม่มีวันจบ 


จึงอยากเสนอให้มีแนวทางบำบัดผู้เสพยาเสพติดเพิ่มเติม ในกรณีที่มีความก้าวร้าว ให้เข้าไปบำบัดในค่ายทหาร จับฝึกวินัย เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เข้มข้น ก่อนจะปล่อยตัวคืนกลับมาสู่สังคม ให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการก่อเหตุร้าย หรือเป็นภัยต่อผู้บริสุทธิ์ โดยในรายที่สามารถเลิกได้ ก็ให้เขารับราชการทหาร ลดการเกณฑ์ทหารลง ได้ใช้งบประมาณตรงส่วนนี้มาช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย