เปิดฉบับเต็ม คำวินิจฉัยศาลรธน.“บิ๊กตู่” ได้ไปต่อนายกฯ ถึงปี 2568

30 ก.ย. 2565 | 17:16 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2565 | 00:23 น.
741

เปิดฉบับเต็ม คำวินิจฉัยศาลรธน. 6 ต่อ 3 เสียง ให้ “บิ๊กตู่” รอดบ่วงนายกฯ 8 ปี ได้นั่งเก้าอี้นายกฯต่อ เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 60 วันประกาศใช้ รธน. 2560 ทำให้เป็นนายกฯ ได้ถึง ปี 2568

วันนี้ (30 ก.ย.65) ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส.ฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ 

 

โดยศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง 


ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 170 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171

วรรค 2 บัญญัติว่า นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้วความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย  


รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง 
นอกจากนี้มาตรา 158 วรรคหนึ่ง วรรคสอง บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสาม บัญญัติว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี


มาตรา 159 วรรค 1 บัญญัติว่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

วรรคสอง บัญญัติว่า การเสนอชื่อตามวรรค 1 ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  วรรคสาม บัญญัติว่า มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร


และมาตรา272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสามต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา 


วรรค 2 บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใดและสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 


ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2560 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา  159 และการได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272  


โดยการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 มีหลักการสำคัญว่า ให้พิจารณาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากที่พรรคการเมืองได้แจ้งชื่อไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามที่ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 

                                        เปิดฉบับเต็ม คำวินิจฉัยศาลรธน.“บิ๊กตู่” ได้ไปต่อนายกฯ ถึงปี 2568
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 แต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.62 ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยบริบูรณ์และเป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมายและความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายกล่าว คือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องพิจารณากระบวนการในการแต่งตั้งนายกฯ ตามมาตรา 158 ประกอบมาตรา 159 


โดยเฉพาะเงื่อนไขในมาตรา 159 วรรคหนึ่งบอกว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

 

ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นบุคคลอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคการเมืองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร 


ผู้ถูกร้องได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถวายคำแนะนำเห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี2560 ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร


อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ 


และให้นำความตามมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม วรรคสอง บัญญัติว่ารัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้นอนุมาตรา 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 อนุมาตรา 12 ,13 ,14 ,15 และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้นอนุมาตรา 3 , 4 


แต่ในกรณีตามอนุมาตรา 4 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 อนุมาตรา 12 , 13 , 14 ,15 และยกเว้นมาตรา 170 อนุมาตรา 5 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 อนุมาตรา 1 วรรคสามที่บัญญัติว่า การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ปี 2558 


และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขฉบับที่ 2 ปี 2559 ที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง วรรคสี่บัญญัติไว้ว่า ให้นำความตามมาตรา 163 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรีตามวรรคสอง และวรรคสามโดยอนุโลม ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า จะถือว่าคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่


พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้บทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือแม้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2560

 

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 แล้ว ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตาม ย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะการมาตรา 264 


ประการที่ 2 เพื่อนำกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศบังคับใช้ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาบังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่คณะรัฐมนตรี ที่บริหารราชการแผ่นดิน ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะการจะมีข้อยกเว้นว่ามิให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเว้นไว้ในบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นหากมิได้ประกาศยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดไว้ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 


ความมุ่งหมายของมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้บังคับกฎหมาย คือกฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะการมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที


กรณีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ในเรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560


ข้อกล่าวอ้างที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่3-5/2550 และ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมือง และการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่โทษทางอาญาสามารถกระทำได้ เช่นเดียวกับกรณีตามคำร้องในคดีนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และทั้งสองกรณีดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนไว้โดยชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก 


แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับ มิได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลังได้ คำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกัน จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้ 


ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย. 2561 ระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับการประชุมดังกล่าวประธานกรธ.และรองประธานกรธ.คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับว่า บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการใดก็ตาม ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ 

 

เมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปีนั้น เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของกรธ.และการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร เป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ประกอบกับความเห็นของประธานกรธ.และรองประธานกรธ.คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายหรือคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 


นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมของกรธ.ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฎประเด็นในการพิจารณาหรืออภิปรายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560  


ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เม.ย. 2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง 


ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงนายกรัฐมนตรีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา  170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่  


ทั้งนี้มีรายงานว่าตุลาการ 6 เสียงข้างมาก ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายบรรจงศักดิ์ วงษ์ปราชญ์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์
ส่วนตุลาการ 3 เสียงข้างน้อย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ นายนพดล เทพพิทักษ์