ศาลยกฟ้อง ขุนค้อน-อุดมเดช คดีสับเปลี่ยนร่าง รธน.ปมที่มา ส.ว. ชี้ไม่มีเจตนา

20 ก.ย. 2565 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 23:44 น.

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องคดี "สมศักดิ์ " อดีตประธานสภาฯ พร้อม อุดมเดช อดีต ส.ส.นนทบุรี มีพฤติการณ์สับเปลี่ยนร่างรธน. ปมแก้ไขที่มา ส.ว. ปี 2556 ชี้ไม่มีเจตนา

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที อม.1/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 20/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นโจทก์ ฟ้อง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ จำเลยที่ 1 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร จําเลยที่ 2

 

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธาน รัฐสภาโดยตำแหน่ง จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการที่มิชอบด้วย รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 สับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภา โดยไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อรับรอง

 

ซึ่งร่างฉบับใหม่ที่นำมาสับเปลี่ยน มีการเพิ่มเนื้อหาแตกต่างจากร่างเดิมในหลักการที่เป็นสาระสำคัญ คือผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้เลยโดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี และ จำเลยที่ 1 รู้เห็นให้มีการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่ตรวจสอบและสั่งการให้แก้ไขให้ถูกต้อง และจงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง

 

ทำให้เหลือระยะเวลาให้ สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 291 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 และมาตรา 198

 

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
 

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์  อดีตประธานสภาฯ

 

ศาลพิเคราะห์ว่า การสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จำเลยทั้งสองมีความผิดหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 ผู้ดำเนินการนำร่างฉบับใหม่มาเปลี่ยนร่างเดิม ปรากฏตามบันทึก วิเคราะห์

 

สรุปสาระสำคัญของร่างเดิมว่า วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาให้สามารถดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันเกินกว่า 1 วาระได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า เป็นกรณี ที่กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภาที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ติดต่อกันเลย โดยไม่ต้องเว้นวรรค

 

เพียงแต่ร่างเดิมมิได้ระบุว่าแก้ไขตรงมาตราใดที่มีข้อความตามนัยให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ติดต่อกันได้ อันเป็นการบกพร่องในการร่างของร่างเดิม เมื่อร่างฉบับใหม่ระบุแก้ไขตรงมาตรา 116 วรรคสอง ก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ตรงกับที่สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ก่อนยื่นญัตติ ตามที่ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

 

จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล วิป รัฐบาล)แจ้งแก่คณะกรรมการพรรคร่วมรัฐบาลให้ทราบถึงข้อบกพร่องและได้แก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามที่ได้ หารือและที่ได้แถลงข่าวกันไว้แล้วให้ช่วยแจ้งสมาชิกรัฐสภาทราบด้วยและขอแก้ไขให้เป็นไปตามที่ได้หารือกันไว้ อันเป็นการกระทำโดยเปิดเผย

 

และในการประชุมสภาวาระที่หนึ่งซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เสนอญัตติอภิปรายหลักการ และเหตุผลตามความในร่างฉบับใหม่ ไม่มีสมาชิกที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติตามร่างเดิมทักท้วง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 เพียงต้องการแก้ไขร่างเดิมเพื่อให้มีเนื้อความถูกต้องตรงกับความประสงค์ของสมาชิกที่ลงชื่อเสนอมาเท่านั้น หา ใช่มีเจตนาแก้ไขตามความประสงค์ส่วนตัว อีกทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ใช้อิทธิพลหรืออำนาจครอบงำสั่งการใดๆบังคับ

นายอุดมเดช รัตนเสถียร  อดีตส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐสภาให้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำร่างฉบับใหม่มาเปลี่ยนได้ พร้อมทั้งคืนร่างเดิมแก่ฝ่ายจำเลยที่ 2ไป มีเหตุผลให้จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าเป็นกรณีสามารถทำได้ตามปกติ

 

ส่วนจำเลยที่ 1 ได้สอบถามนิติกรเจ้าของ เรื่องรายงานว่า ตรวจสอบแล้วเห็นว่าแก้ไขได้ และร่างที่นำมาเปลี่ยนมิได้ขัดกับหลักการที่เสนอไว้แต่เดิม สามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 36โดยมีข้าราชการประจำรัฐสภาและอดีต ข้าราชการประจำรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานจริงให้ถ้อยคำตรงกันว่า ตราบใดที่ประธานรัฐสภายังมิได้สั่งบรรจุ เข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ผู้เสนอญัตติย่อมแก้ไขเพิ่มเติมได้เสมอ

 

ส่วนวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มี กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ใด แต่มีแนวทางที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายปีว่า การแก้ไขเพิ่มเติมทำได้ 5 แนวทาง

 

รวมทั้งการนำร่างฉบับใหม่มาเปลี่ยนร่างเดิมซึ่งมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เคยปฏิบัติ สืบทอดกันมา และจำเลยที่ 1 ได้เรียกผู้อำนวยการสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไป สอบถามแล้วยืนยันว่าสามารถทำได้ นับว่ามีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าทำได้

 

หากจำเลยที่ 1 ไม่เชื่อว่าทำได้ หรือเชื่อว่าทำไม่ได้จำเลยที่ 1 ก็ให้ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการเสนอร่างเข้ามาใหม่ โดยให้สมาชิกรัฐสภาร่วม ลงชื่อเสนอญัตติเข้ามาใหม่ก็ทำได้โดยง่ายเพราะจำเลยทั้งสองสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันและผู้ร่วมลงชื่อ เสนอญัตติส่วนใหญ่ก็สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับจำเลยทั้งสอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาและ เจตนาพิเศษ การกระทำของจำเลยทั้งจึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง

 

ประการที่สอง การที่จำเลยที่ 1 นำร่างฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 2 เสนอบรรจุเข้าระเบียบวาระการ ประชุมรัฐสภาเป็นความผิดหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กระทำเช่นนั้นเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้เสนอญัตติสามารถแก้ไขญัตติได้หากประธานรัฐสภายังไม่ได้สั่งอนุญาตให้บรรจุเข้าระเบียบวาระการ ประชุมรัฐสภา

 

จึงเป็นการสั่งไปโดยถือว่าได้มีการแก้ไขญัตติเดิมเป็นร่างฉบับใหม่เพียงฉบับเดียวแล้วนั่นเอง จึง ฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกที่ร่วมพิจารณาญัตติฟังไม่ได้ว่าการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดตามคำฟ้อง

 

ประการที่สาม จําเลยที่ 1 จงใจนับกำหนดเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ทำให้เหลือระยะเวลาให้สมาชิก รัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการกระทำความผิดอาญาตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อที่ประชุมรัฐสภา ลงมติให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 96 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า

 

การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขั้นคณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาผู้ใด เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธาน คณะกรรมาธิการภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติม

 

เว้นแต่รัฐสภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไว้เป็นอย่างอื่น มีผู้ เสนอให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 60 วัน แต่เมื่อที่ประชุมรัฐสภายังไม่ได้มีการลงมติ ถือว่ารัฐสภา ไม่ได้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น

 

การที่จำเลยที่ 1 เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2556 และที่ประชุมรัฐสภาลงมติให้กำหนดเวลาเสนอคำแปรญัตติภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้นับแต่วันรับหลักการตามข้อบังคับข้างต้น

 

เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตีความโดยจำเลยที่ 1 เชื่อเช่นนั้นจริง การจะ เป็นความอาญาตามฟ้องต้องมีข้อเท็จจริงให้รับฟังด้วยว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

 

หรือมิฉะนั้นก็มีเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ปรากฏว่าสมาชิก รัฐสภายื่นหรือเสนอคำแปรญัตติทันภายในกำหนด 202 คน คงมีเพียงบคนที่ยื่นคำแปรญัตติไม่ทัน แม้อาจได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้โอกาสได้อภิปรายในวาระที่สอง ความเสียหายที่หากมีก็ ไม่มากนัก

 

พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและเจตนาพิเศษดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทําความผิดพิพากษายกฟ้อง