“บิ๊กตู่” จบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แจงยาวเปิดข้อมูล 8 ปี แห่งความสำเร็จ

22 ก.ค. 2565 | 21:33 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 04:50 น.
3.6 k

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวสรุป แจงยาวเปิดข้อมูล 8 ปี แห่งความสำเร็จ รับดันประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หลายเรื่อง ไปดูกันว่า ที่ผ่านมามีเรื่องอะไรที่นายกรัฐมนตรี ยกมาพูดกลางสภา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวสรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันสุดท้าย โดยใช้เวลากว่า 1 ชม. ว่า จากข้อกล่าวหาการบริหารราชการแผ่นดินตลอดเวลาที่ผ่านมา ผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ความรู้ความสามารถ ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ อันไหนดีก็รับไปอันไหนไม่ดีก็สวดมนต์ให้ไป

 

โดยการเดินทาง 8 ปี เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยนายกฯ ระบุว่า มีเรื่องต่าง ๆ เป็นผลงาน ที่ไม่ได้อยากโอ้อวด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม รวมทั้งแผนในอนาคตสรุปได้ดังนี้ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

1.การปลดธงแดง ICAO หรือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เป็นภารกิจเร่งด่วน ช่วงปี 2558 โดยแก้ไขทุกข้อบกพร่อง เช่น การแก้ไขเรื่องโครงสร้างองค์กร กลไก ขั้นตอน กระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ ออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO อย่างเคร่งครัด 

 

รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลา 2 ปีจนผ่านการประเมินโดย ICAO และ “ปลดธงแดง” เมื่อ 6 ตุลาคม  2560 ช่วยให้ไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยและนิรภัยการบิน (Safety and Security) อีกครั้ง 

 

2.การแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ ล่าสุดสหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 สะท้อนว่า ประเทศไทยได้มีความพยายามมากขึ้นในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แม้จะยังไม่มากพอตามมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่ถือว่าดีขึ้นจากปีที่แล้ว 

 

3.การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติของไทย ให้หลุดพ้นจากสภาวการณ์ล้มละลาย จากปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2554 เฉลี่ยปีละกว่า 7,000 ล้านบาท ทำให้ปี 2563 มีภาระหนี้สินกว่า 300,000 ล้านบาท และขาดสภาพคล่องกว่า 54,000 ล้านบาท จำเป็นต้องให้รัฐเพิ่มทุนกว่า 80,000 ล้านบาท 

 

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ อย่างเคร่งครัด ช่วยให้ผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูฯ ล่าสุด ณ 30 มิถุนายน 2565 ปรากฏผลดีกว่าเป้าหมายอย่างมาก ปัจจุบันการบินไทยมีสภาพคล่องทางการเงินที่เข้มแข็งมากขึ้น คาดว่าการบินไทย จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในปี 2567 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้เดิม

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

4.ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อบริหารจัดการที่ดินของประเทศ ให้ประชาชนผู้ยากไร้ เกษตรกร เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  ดำเนินการแล้วกว่า 1.2 ล้านไร่ และจะเดินหน้าทำต่อไป ตามเป้าหมาย 5.7 ล้านไร่ รวมทั้งการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000  (One Map) เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งบนพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ ที่มีมากว่า 50 ปี

 

5.การทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

 

ทางถนน สร้างทางหลวงแผ่นดิน/เส้นทางสายหลัก เพิ่มขึ้น เดิมปี 2557 มี 4,271 กิโลเมตร สิ้นปี 2564 เพิ่มเป็น 11,583 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางหลัก 

 

ระบบรถไฟฟ้า เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดิมมี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 147.8 กิโลเมตร สร้างเพิ่มและเปิดบริการแล้ว 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร มีแผนก่อสร้างเพิ่มจนครบ 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร รวม 4 ปี ที่ผ่าน ๆ มา สร้างรถไฟฟ้าได้ 1-2 สาย หรือระยะทางสูงสุด 46 กิโลเมตรซึ่งรัฐบาลนี้ ถือว่า 2 สมัย คือ 8 ปี สร้างได้ 10 สาย 200 กว่ากิโลเมตร ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ย 2.5 เท่า

 

รถไฟความเร็วสูง สายอีสาน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ - หนองคาย กว่า 500 กิโลเมตร ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา 253 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569 สำหรับระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาด คาดว่าจะเสนอ ครม.ในปี 2565 และจะเปิดให้บริการในปี 2571 

 

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา เชื่อมกรุงเทพฯ – EEC 220 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งมอบพื้นที่แล้ว 100% และในอนาคตอีก ได้แก่ สายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสายใต้ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ 

 

โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณาในปี 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ ในปี 2569

 

ทางน้ำ เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางทะเล ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่งเสริมบทบาท EEC เชื่อมทั่วโลก คาดเปิดให้บริการปี 2568 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดเปิดให้บริการปี 2569 

 

ทางอากาศ พัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร จากเดิมปี 2557 รองรับ 118 ล้านคน ปี 2564 เพิ่มเป็น 139 ล้านคน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2565 และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 

 

6.การสนับสนุนภาคการผลิต ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และบริการ ในขับเคลื่อนประเทศ จัดทำแผนแม่บทระยะ 20 ปี สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ ซึ่งช่วงปี 2561 - 2565 

 

7.โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างโอกาส และสร้างแรงงานทักษะสูง ตลอดห่วงโซ่ รวมกว่า 420,000 ตำแหน่ง ส่งเสริมการจ้างงานในภาคธุรกิจ มากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ในภาคแรงงานการก่อสร้าง อีกกว่า 16,000 อัตรา ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ อีกมากมาย โดยในช่วงปี 2557 – มิถุนายน 2565 มีมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว มูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านบาท

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากการลงทุนเพื่ออนาคตแล้วยังได้เตรียมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกันทิศทางการพัฒนาของโลกในวันข้างหน้า และทำให้เกิดฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ โดยดำเนินการใน 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 

 

เรื่องที่ 1 การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รองรับโลกในศตวรรษที่ 21 โดยได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้ครอบคลุม ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” เช่น พัฒนาระบบพร้อมเพย์ การชำระเงิน-โอนเงินแบบทันที พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ 

 

เรื่องที่ 2 อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน โดยขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ทั้ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปรับโครงสร้างพลังงาน โดยลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จาก 31.8% เป็น 40% ในปี 2579 

 

เรื่องที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เช่น ส่งเสริมเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรคุณภาพสูงและการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริหารพื้นที่เกษตรกรรมเชิงรุกด้วย Agri-map เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาแพลตฟอร์มและ Big data สนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ 

 

เรื่องที่ 4 มาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เป็นมาตรการกระตุ้น ชั่วคราว ระยะ 5 ปี ช่วง 2565-2569 เป็นการจูงใจให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือเป็นผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง ให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย สามารถถือครองที่ดินได้ไม่เกินคนละ 1 ไร่ เพื่ออยู่อาศัย ในพื้นที่ที่กำหนดให้เท่านั้น 

 

ส่วนการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางนั้น ได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เพื่อแก้ปัญหาหมักหมมเหล่านี้ เช่น การแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ย กำหนดให้ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระจะต้องจ่ายดอกเบี้ย ที่คำนวณจากเงินต้นทั้งหมด กฎหมายการปรับเป็นพินัย กฎหมายปลดล็อคไม้มีค่า 58 ชนิดให้ปลูกได้ ไม่ผิดกฎหมาย 

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565

 

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศชาติยังมีอีกหลายปัญหาที่รอการแก้ไข บางอย่างก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น ปัญหาหวยแพง เกิน 80 บาท ซึ่งปัจจุบันก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา โดยการต่อยอดจากการซื้อ-ขายหวยรัฐบาลผ่านแอปฯ เป๋าตัง ที่คนไทยหลายสิบล้านคนเคยใช้มาแล้ว ส่วนผลกระทบต่อผู้ขายเดิมนั้น ก็กำลังหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป 

 

“เรื่องหวยแพง รัฐบาลไม่ได้รังแกผู้มีรายได้น้อย โดยมีการให้โควตา 3 ส่วน คือผู้ว่าราชการจังหวัด สมาคมต่าง ๆ และผู้ค้ารายย่อย ตอนนี้ไม่มีเสือแล้ว แม้ว่าก่อนหน้าจะมี แต่ก็ได้เข้ามารื้อ ซึ่งถ้าเล่าจะหนาว โดยวันนี้ไม่ได้ยึดเอาโควตาคืนแล้วมาขายออนไลน์ รายย่อยยังมีโควตาเหมือนเดิม”

 

นอกจากนี้ยังได้การปรับปรุงสภาพแวดล้อมคลองโอ่งอ่างซึ่งทำเสร็จแล้ว และประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่กลางกรุง การยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ รวมกว่า 13,600 ครัวเรือน

 

“ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นก้าวแรก ๆ ของการเดินทางไกล ผมเชื่อในคำกล่าวที่ว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน โดยภูมิใจสิ่งที่ทำสำเร็จแม้ว่าใครจะว่าไม่สำเร็จ แต่ผมก็รู้ว่าทำอะไรอยู่ และฝากทุกคนเก่ง ๆ ได้สานต่อไป เพราะไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้า แต่ประเทศไทยจะต้องยังคงดำรงอยู่ และขอฝากให้ร่วมมือ ร่วมใจกันทำงานเป็นความภาคภูมิใจของเราทุกคน จะได้พร้อมยืดอกแล้วพูดว่าฉันภูมิใจที่เป็นคนไทย”