“ชินวรณ์” เตือน “ส.ส.ปชป.” โหวตคว่ำ “จุติ” ต้องรับผิดชอบเอง

21 ก.ค. 2565 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 17:55 น.

“ชินวรณ์” ไม่ทราบข่าว “ส.ส.ปชป.” โหวตคว่ำ “จุติ” ชี้อาจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ถ้าโหวตพลาดต้องรับผิดชอบเอง ไม่อยากให้ถูกกล่าวหาไปรับกล้วย

วันที่ 21 กรกฎาคม  2565 ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่าขณะนี้ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาไปทั้งหมด 30 ชั่วโมง และยังสามารถใช้เวลาที่เหลือ 22 ชั่วโมง ได้ตามกำหนด ส่วนรัฐบาลก็ไม่น่าจะมีปัญหาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเรื่องการบริหารเวลา และใน 2 วันที่ผ่านมาตนประเมินว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ บทบาทของฝ่ายค้านตั้งแต่ผู้นำฝ่ายค้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก.ก. ทำการบ้านที่เพิ่มเติมมาได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่ได้ซักถามนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่หลายคนติดตามอยู่ และต้องรอดูการประมวลผลที่จะทำให้รัฐมนตรีจะไม่สามารถชี้แจงได้หรือนำไปสู่การร้องต่อองค์กรอิสระ จึงต้องมาดูว่าฝ่ายค้านจะดำเนินการต่อเนื่องได้หรือไม่ ถือเป็นการให้กำลังใจฝ่ายค้าน เพราะถ้าฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้อย่างมี ประสิทธิภาพจะทำให้ระบบรัฐสภาเป็นที่คาดหวังของประชาชนได้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลได้มีการประเมินเบื้องต้นสำหรับรัฐมนตรีที่ตอบชี้แจงไปแล้ว ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็เป็นข้อมูลที่เก่าส่วนหนึ่งและใหม่ส่วนหนึ่ง

 

รัฐมนตรีชี้แจงได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจแต่ก็ยังเหลือบางประเด็นที่ตนได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ฝ่ายค้านสามารถรุกต่อ ในการที่จะไปยื่นองค์กรอิสระได้หรือไม่ เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจในผลการอภิปรายไม่ไว้ใจครั้งนี้

 

นายชินวรณ์ กล่าวว่า สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะถูกอภิปรายในวันที่สามและสี่นี้ ก็ต้องติดตามดูว่าฝ่ายค้านทะลวงหัวใจสำคัญของนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ซึ่งกำลังอยู่ในการจับตาของสังคมและประชาชน

 

ถ้าเป็นเรื่องเดิมตามที่ผู้นำฝ่ายค้านเปิดประเด็นไว้ 6 ประเด็น ตนก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรีสามารถตอบได้และมั่นใจว่า นายกฯแสดงผลงานช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาได้ด้วย ในฐานะตนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

 

 

อย่างไรก็ตามในสองวันที่เหลือนี้เราต้องให้โอกาสฝ่ายค้านทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ส่วนรัฐบาลก็หวังว่ายังสามารถยึดตัวเลขที่มีอยู่ขณะนี้คือฝ่ายค้าน 224 รัฐบาล 253 การลงมติไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ 151 นั้นจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือต้องมีเกิน 239 จึงจะไม่ไว้วางใจได้

 

ดังนั้นเรามีความมั่นใจว่า รัฐบาลยังมีความเป็นเอกภาพอยู่ ทั้งนี้ทุกครั้งของการอภิปรายที่ผ่านมาเรื่องตัวเลขในการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ประเด็นในการอภิปรายนั้นจะเป็นประเด็นที่กระทบต่อทางการเมืองหรือไม่ เพราะหลายครั้งที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการอภิปราย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสข่าวส.ส.พรรคปชป.จะโหวตไม่ไว้ใจให้รัฐมนตรีในพรรคปชป.เอง นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในรัฐบาลเองก็อาจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปหลายคน นั้นเป็นเรื่องส่วนตัวในเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบ

 

เช่นเดียวกันกับฝ่ายค้าน ก็อาจจะมีงูเห่าเพิ่มขึ้นก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นต้องรอดูว่าบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่ฝ่ายค้านพูดถึงนั้นจะเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่เกิดจากการลงมติหรือข้อมูลในการอภิปราย

 

เมื่อถามว่ากระแสข่าวที่พรรคปชป.จะโหวตคว่ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบในประเด็นดังกล่าว พรรคปชป.เรายึดถือหลักว่าต้องทำตามมติวิปรัฐบาล มติพรรคปชป.เสมอมา

 

แต่ส่วนตัวบ้างคนอาจจะมาความคิดเห็นอย่างไรนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งและใครลงมติอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบเอง ดังนั้นต้องระมัดระวัง เพราะไม่อยากให้ถูกกล่าวหาว่าไปรับกล้วย หรือถูกกล่าวหาว่าลงคะแนนโดยเป็นเรื่องของอคติส่วนตัว ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

 

เมื่อถามว่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า นายจุรินทร์ เคยชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และตนในฐานะวิปรัฐบาลก็ขอยื่นยันอีกครั้งว่าพรรคปชป.เป็นสถาบันทางการเมือง เป็นพรรคประชาธิปไตย

 

ในช่วงของการเสนอความเห็นต้องมีความหลายหลายในทุกครั้ง พรรคปชป.เป็นพรรคการเมืองที่มีวัฒนธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดังนั้นการตัดสินใจขึ้นอยู่กับเจ้าตัวที่จะตัดสินใจโดยไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบเอง