"นิพนธ์"ทำใจเสียง‘ปชป.’แตกคะแนนโหวตซักฟอกรมต.อาจไม่เท่ากัน

18 ก.ค. 2565 | 10:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 18:19 น.

“นิพนธ์” ยอมรับทำใจ เสียงปชป.ไม่เอกภาพ รมต. คะแนนอาจไม่เท่ากัน แต่สำคัญที่คะแนนไม่ไว้วางใจต้องเกินกึ่งหนึ่ง

วันที่ 18 ก.ค. 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางโดยเฉพาะทิศทางการลงมติของพรรคประชาธิปัตย์มีความกังวลหรือไม่ว่าเสียงอาจไม่เป็นเอกภาพ ว่า คนที่มีปัญหาก็ยอมรับว่ามีปัญหา ต้องพยายามพูดคุยกัน มีอะไรก็พูดคุยกันในพรรค หากสุดวิสัยจริงๆก็เอาเท่าที่ได้


 ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการคาดโทษหรือไม่หากเกิดปัญหาเรื่องเสียงไม่เป็นเอกภาพ นายนิพนธ์ กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. แต่ในพรรคต้องมีระเบียบวินัย มันไม่ได้หากไม่มีระเบียบวินัยก็อยู่กันไม่ได้ ฉะนั้นในส่วนที่เป็นเอกสิทธิ์เราเคารพ แต่ในส่วนของความเป็นพรรคการเมืองต้องมีมติและมีระเบียบ
 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

เมื่อถามว่า แสดงว่า ยอมรับได้กับคนที่จะโหวตไม่เป็นทิศทางเดียวกับพรรค นายนิพนธ์ กล่าวว่า มีมาแล้ว2-3ครั้ง ที่ผ่านมามีปัญหาทุกครั้ง ดังนั้น ครั้งนี้หากจะมีปัญหาอีกถือเป็นเรื่องปกติ

 

 เมื่อถามย้ำว่า 2 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ที่มีปัญหา นายนิพนธ์ กล่าวว่า พยายามพูดคุยกันอยู่ แต่คิดว่า บางคนก็มีเหตุผลที่จะอธิบาย แต่ทั้งนี้ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ เพราะพรรคการเมืองอยู่ได้จะต้องมีระเบียบมีมติ มีวินัย

 

เมื่อถามว่า นายอันวาร์ สาและ ส.ส. ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ และนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้มเหมือนว่าจะไม่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว นายนิพนธ์ กล่าวว่า อย่าไปเจาะจงว่าเป็นใคร แต่พยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ดังนั้น ต้องพูดจาและฟังเหตุผลกัน แต่ย้ำว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อถามว่า แสดงว่า ทำใจได้แล้วใช่หรือไม่ นายนิพนธ์ ก็ได้พยักหน้าแทนคำตอบ


เมื่อถามว่า มีความกังวลเรื่องกลุ่ม 16 หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในทางการเมืองถือว่า ต้องฟังสิ่งที่เขาพูด อะไรที่ชี้แจงได้ก็ชี้แจง ตนเชื่อมั่นว่า ทุกอย่างสามารถชี้แจงได้ ส่วนจะเทคะแนนให้ตนหรือไม่ ก็ต้องอธิบายกันด้วยเหตุด้วยผล 3 ครั้งที่ผ่านมาเห็นการลงคะแนนอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร การอภิปรายครั้งนี้คงจะทำนองเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการลงคะแนนจะให้เท่ากันทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ห่างกัน 1-2 คะแนน ถือเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือคะแนนไม่ไว้วางใจ คะแนนไว้วางใจอาจจะไม่เท่ากันได้ไม่เป็นไร แต่คะแนนไม่ไว้วางใจต้องเกินกึ่งหนึ่ง นั่นคือประเด็นสำคัญ

 

ส่วนที่ก่อนหน้านี้กลุ่ม 16 ออกมาระบุว่าอาจจะมีรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งนั้น ถ้าติดตามการอภิปรายที่ผ่านมาจะเห็นว่าพูดทำนองนี้ทุกครั้ง รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจึงต้องเตรียมข้อมูลให้ดีที่สุด เชื่อว่าการเตรียมข้อมูลที่ดีจะทำให้อธิบายได้ทุกเรื่อง และเชื่อว่าทำงานร่วมกันมา3ปี สามารถอธิบายต่อประชาชนได้อย่างแน่นอน


เมื่อถามถึงการโปรโมทอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ที่มีการทำลักษณะคล้ายหนังตัวอย่าง นายนิพนธ์ กล่าวว่า มันเป็นวิธีการโปรโมทที่พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบ แต่ไม่สำคัญเท่าเนื้อหาที่จะพูดในสภา นอกสภาใครทำอะไรก็ได้ แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ในสภา