“มหาดไทย”สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดทำความเข้าใจ“ถอดหน้ากากอนามัย”

24 มิ.ย. 2565 | 17:20 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2565 | 00:26 น.

“ปลัดมหาดไทย”สั่งผู้ว่าฯ กทม.-ผู้ว่าฯทุกจังหวัด สร้างความเข้าใจการ “ถอดหน้ากากอนามัย” ตามข้อกำหนดศบค.ใหม่ พร้อมให้รณรงค์ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ ไม่น้อยกว่า 60%

วันนี้(24 มิ.ย.65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ได้คลี่คลายลงและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น จากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง 


ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลง จนภาครัฐสามารถผ่อนปรนมาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ 

รวมไปถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดเรื่องการเดินทางทั้งใน และระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล เพื่อรับผู้เดินทางจากทั่วโลก เพื่อเตรียมความพร้อมการจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทั่วไป 


นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 12/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อกำหนดฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

 

 

และคำสั่ง ศบค.ฯ ที่ 13/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป จึงได้สั่งการและประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ 


การปรับปรุงพื้นที่สถานการณ์ในทุกจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว) ซึ่งสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยระมัดระวังการแพร่ระบาดโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ 


การจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดไว้เฉพาะของกิจการนั้น ๆ ได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามคำแนะนำของทางราชการ

 

ยกเว้นกรณีที่มีการจัดกิจกรรมหรือรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คนขึ้น ผู้จัดยังคงต้องแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครทราบ เพื่อเป็นมาตรการเฝ้าระวังและกำกับติดตามไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดแบบกลุ่มก้อน (Cluster) 

 

การผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทางของแรงงานต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยให้การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัด สามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการได้ตามปกติ 


ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องใช้ Thailand Pass และไม่มีการกักตัว เพื่อสอดคล้องกับมาตรการและหลักเกณฑ์สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ได้ทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กร 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ ซึ่งมีข้อแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุขว่า ผู้ที่มีความพร้อมมากพอจะถอดหน้ากากอนามัยได้นั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนประเภท adenovirus vector เช่น แอสตร้าเซเนกา และต้องมีวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย 


และการถอดหน้ากากอนามัย ควรถอดหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ ที่เปิดโล่ง ไม่แออัด และจำนวนคนไม่หนาแน่นจนเกินไป เช่น สวนสาธารณะ ชายหาด สนามกีฬา ที่เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 2 เมตร แต่หากเป็นสถานที่ปิด เช่น อาคารแบบปิด ผับ บาร์ สถานบันเทิง รวมทั้งสถานที่ทำงานที่มีแอร์ หรือพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดี เช่น โรงพยาบาล ก็ยังมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อโควิด-19 และโรคอื่น ๆ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว


ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กรณีเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 


โดยเฉพาะกลุ่มโรคเบาหวานแบบคุมไม่ได้ และกลุ่มที่ภูมิต้านทานบกพร่อง ซึ่งเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงหากติดเชื้อโควิด - 19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต ควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น และกรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค


ปลัด มท.กล่าวว่า ในด้านการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับพี่น้องประชาชน ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ทุกจังหวัดสามารถจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับพี่น้องประชาชน โดยเข็มที่ 1 ร้อยละ 82 เข็มที่ 2 ร้อยละ 77 และวัคซีนเข็มที่ 3 ร้อยละ 43 


ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (24 มิ.ย.65) ได้สั่งการให้หัวหน้าสำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดได้ประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย รวมถึงคนต่างด้าวที่พักอาศัยในพื้นที่จังหวัดให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนบริหารวัคซีน คือ ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19

 

และสร้างการรับรู้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต้องไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ไหน ๆ หรือโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ พวกเราทุกคนสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารครบทุกหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ป้องกันการติดเชื้อโรคหรือการแพร่โรค สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวและสังคมได้อย่างอยู่รอดปลอดภัยและเป็นปกติสุข