ข่าวปลอม โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

20 มิ.ย. 2565 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 16:57 น.
1.7 k

โฆษกรัฐบาล ยันไม่มีการโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาท เมื่อ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมเตือน ตรวจสอบให้ดีก่อนทำธุรกรรมออนไลน์ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ

วันที่ 20 มิ.ย. 65  นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข่าวปลอม กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถกดเงินสดได้ 1,000 บาท เงินเข้า 18 มิถุนายน 2565 นั้น

 

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) ตรวจสอบและพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีการโอนเงินแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนรับข้อมูลประชาสัมพันธ์จากช่องทางหลักที่เชื่อถือได้ 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบระบบการโอนเงินของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ไม่มีเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาท และทุกวันที่ 18 ของเดือน จะได้รับเงินคืนค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

 

ขอให้ประชาชนรับข่าวสารจากช่องทางหลัก หรือตรวจสอบผ่านการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ ที่มีผู้ไม่ประสงค์ดีส่งต่อ

 

รวมทั้ง ขอความร่วมมือไม่ส่งต่อข้อมูลดังกล่าว ซึ่งข่าวสารจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สามารถติดตามได้ที่ www.cgd.go.th


ขณะเดียวกัน นายธนกร มีความห่วงใยการใช้จ่ายของประชาชนผ่านสังคมไร้เงินสด ขอให้ประชาชนมีสติในการใช้งาน เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีจงใจใช้ QR Code พิมพ์ URL นำไปสู่เว็บไซต์หลอกลวง (Phishing) ให้กรอกข้อมูลหรือบัญชีธนาคารหรือหลอกให้โอนเงินไปบัญชีคนอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของร้านค้า ควรพิจารณาให้รอบคอบ

 

หากพบว่าลิงก์ หรือ URL ที่ปรากฏแปลกๆ หรือไม่ตรงกับชื่อเว็บไซต์ที่ใช้บริการอยู่ ก็ไม่ควรที่จะกด Scan ต่อ รวมทั้งก่อนโอนเงินหรือทำธุรกรรมควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบัญชีของผู้ขาย โดยสอบถามยืนยันกับผู้ขายว่าชื่อบัญชีถูกต้องหรือไม่ก่อนที่จะโอนเงินชำระค่าสินค้า

“ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของประชาชนง่าย และรวดเร็วขึ้น เข้าถึงข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ ใช้จ่ายผ่านสังคมไร้เงินสด ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อาศัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนนี้

 

ขอให้ประชาชนรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และตรวจสอบความถูกต้องก่อนทำธุรกรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและความผิดพลาด ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐได้ เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินของประชาชนทุกคน”