“บันทึกลับที่เพิ่งเปิดเผย” เรื่องราวของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูก ทักษิณ หลอกใช้

19 มิ.ย. 2565 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 21:01 น.
7.0 k

“พิภพ ธงไชย” โพสต์ “บันทึกลับที่เพิ่งเปิดเผย” เรื่องราวการเมืองไทยของ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกฯ ที่เคยถูก “ทักษิณ ชินวัตร” หลอกใช้ ชี้การเมืองไทยมักเกิดขึ้นจากการเจรจาที่ฉากหลัง เมื่อสถานการณ์เหมาะสม เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ได้โพสต์ภาพ และ ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก pibhop Dhongchai ในหัวข้อ “บันทึกลับที่เพิ่งเปิดเผย” ระบุว่า 


ครั้งสุดท้ายที่ทุกคนเห็นนักการเมืองชรา ณ สภาผู้แทนราษฎรคือวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

 


ชายชราเดินหลังงุ้มไปที่รถอย่างเงื่องหงอย เพียงเวลาเช้าเดียว ดูแก่ชราลงกว่าเดิมหลายปี ก้าวเดินแต่ละก้าวเชื่องช้าและดูอ่อนแรง แต่สามเดือนต่อมา มันสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการเมืองไทยอย่างคาดไม่ถึง


ชายชรามีนาม สมัคร สุนทรเวช

ชายผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวไกล เริ่มชีวิตการเมืองโดยเป็นนักหนังสือพิมพ์การเมือง เขียนบทความทางการเมืองในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ นามปากกา นายหมอดี ฝีปากของนายหมอดีจัดจ้าน ถูกใจคนอ่าน

 

จากบทบาทนักหนังสือพิมพ์ เขากลายเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลงสมัครเลือกตั้ง ลีลาการพูดเป็นเอกลักษณ์และสนุก มีรสชาติ ชาวบ้านชอบ

ช่วงปี ๒๕๑๙ สมัคร สุนทรเวช สนับสนุนและร่วมกับสถานีวิทยุยานเกราะ โจมตีบทบาทของขบวนการนักศึกษา


หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สมัครลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 


ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ก่อตั้งพรรคประชากรไทย ฐานคะแนนเสียงหลักคือกรุงเทพมหานคร


ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเกรด เอ ต่อเนื่อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ฯลฯ


หลังจากรับบทบาทผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และต่อมาเป็นวุฒิสมาชิกกรุงเทพฯ สมัคร สุนทรเวช ในวัยเจ็ดสิบสาม ก็เกษียณจากการเมือง
แต่บางคนไม่ยอมให้เขาเกษียณ

                                   “บันทึกลับที่เพิ่งเปิดเผย” เรื่องราวของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูก ทักษิณ หลอกใช้
วันหนึ่งในปี ๒๕๕๐ ทักษิณ ชินวัตร ติดต่อเสนอให้ สมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และเป็นนายกรัฐมนตรี “นอมินี”


สมัคร สุนทรเวช ตอบว่า “ตกลง แต่ผมมีเงื่อนไขข้อเดียว”


“เงื่อนไขอะไร?”


“ต้องไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร”


ทักษิณรับปาก


สมัคร สุนทรเวช เริ่มบริหารประเทศไม่นาน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกโรงเคลื่อนไหวขับไล่ จุดหมายคือต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ เกิดขึ้นในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ หน้าทำเนียบรัฐบาล แล้วย้ายไปชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก 
ยกระดับการชุมนุมจากการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช


กลุ่มพันธมิตรฯใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย รุกไปที่จุดต่าง ๆ เช่น ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ยึดทำเนียบรัฐบาล จนรัฐบาลไม่สามารถเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีได้
การเมืองดูเหมือนถึงทางตัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย


วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ เนื่องจากเป็นพิธีกรของรายการทำครัว


พรรคร่วมรัฐบาลต้องหานายกฯคนใหม่มาแทน


ทักษิณ ชินวัตร โทรศัพท์หา เนวิน ชิดชอบ “แจ้ง ส.ส. พรรคพลังประชาชนว่าให้สนับสนุนคุณสมัครเป็นนายกฯอีกรอบ”


สมัคร สุนทรเวช ปฏิเสธข้อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง แต่เมื่อได้รับการขอร้องซ้ำ หนึ่งคืนก่อนการโหวตเลือกนายกฯ อดีตนายกฯก็ตกลง


เช้าวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๑ เนวิน ชิดชอบ ได้รับโทรศัพท์จากทักษิณ ยืนยันให้เลือก สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ทุกอย่างดำเนินไปตามกำหนด สมัคร สุนทรเวช เดินทางไปถึงสภาฯแต่เช้า นั่งรอสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลในห้องรับรอง ขณะที่ ส.ส. พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคประชาธิปัตย์ทยอยเดินทางมาประชุม แต่ไม่เห็น ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ 


องค์ประชุมไม่ครบ การเลือกนายกรัฐมนตรีล้มเหลว


เหตุที่องค์ประชุมขาด ส.ส. พรรคที่เหลือเพราะพวกเขาได้รับคำสั่งให้ขาดการประชุมสภาฯ เนื่องจากในนาทีสุดท้าย แผนเปลี่ยนให้เลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี


เวลา ๑๐.๑๕ น. สมัคร สุนทรเวช เดินกลับไปขึ้นรถคนเดียว กลับบ้านอย่างเงื่องหงอย


เป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนเห็นนักการเมืองชราในที่สาธารณะ

                                  “บันทึกลับที่เพิ่งเปิดเผย” เรื่องราวของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูก ทักษิณ หลอกใช้                                   


ข่าวต่อมาคือ สมัคร สุนทรเวช ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ และไปรักษาตัวที่สถาบันมะเร็งฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา เชื่อกันว่าความรู้สึกคับแค้นใจที่ถูกแทงข้างหลังทำให้อาการมะเร็งเลวร้ายลง และเชื่อว่าที่สมัครเสียใจตลอดเวลาที่ป่วยหนักคือ ไม่มีเสียงถามไถ่ทุกข์สุขจากแดนไกลสักครั้งเดียว


สมัคร สุนทรเวช ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


เหตุที่เกิดขึ้นกับ สมัคร สุนทรเวช สร้างรอยร้าวลึกกับกลุ่ม เนวิน ชิดชอบ ซึ่งใกล้ชิดสมัคร หลายคนรู้สึกว่าอดีตนายกฯถูกหักหลัง


ภาพทั้งหมดนี้ตกอยู่ในสายตาที่เฝ้าดูเงียบ ๆ ของเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สุเทพ เทือกสุบรรณ


สุเทพ เทือกสุบรรณ เล่าในหนังสือ The Power of Change กำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเนวินกับสมัครว่า “คุณเนวินกับคุณสมัครเขาไปกันได้ และที่ต้องยอมรับคือคุณสมัครได้ชื่อว่าเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันมาก... คุณทักษิณเห็นว่าสั่งคุณสมัครไม่ได้ทุกเรื่อง ก็เลยเปลี่ยนเอา สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยตัวเองขึ้นมา ตรงนี้แหละที่มันทำให้คนที่ชอบพอและนิยมคุณสมัครทางการเมืองที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนมีอาการไม่ค่อยชอบใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคุณเนวิน”


เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์รอเวลาที่เหมาะสม


แล้ว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะศาลรัฐธรรมนูญยุบสามพรรคการเมืองในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


สุเทพ เทือกสุบรรณ อ่านเกมออกแต่แรกว่า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะไม่รอด และพรรคพลังประชาชนจะถูกยุบ 


สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินสายพบนักการเมืองหลายคน เริ่มที่กลุ่ม ๑๖ ไล่คุยไปทีละคน เนวิน ชิดชอบ บรรหาร ศิลปอาชา สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุชาติ ตันเจริญ สรอรรถ กลิ่นประทุม สมศักดิ์ เทพสุทิน


กลุ่ม ๑๖ คือกลุ่มการเมืองที่เกิดจากการรวมกันของ ส.ส. รุ่นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคชาติไทย และ พรรคชาติพัฒนา แกนนำคือ เนวิน ชิดชอบ


คนแรกที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ไปคุยด้วยคือ เนวิน ชิดชอบ


สุเทพ เทือกสุบรรณ บันทึกไว้ในหนังสือ The Power of Change ว่า เวลานั้น เนวิน ชิดชอบ ไปส่งลูกเรียนที่อังกฤษและไปเยี่ยมทักษิณซึ่งพำนักอยู่ที่นั่น สุเทพ เทือกสุบรรณ นัดพบเนวินที่ร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ต่างคนต่างทำทีไปซื้อนาฬิกา แล้วคุยกัน 


สุเทพ เทือกสุบรรณ บอกเนวินว่า รัฐบาลชุดนี้ไปไม่รอด 


“คุณกล้าตัดสินใจมาอยู่กับพวกผมไหม? มาเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกัน ผมตั้งใจแล้วจะพยายามประคับประคองระบอบประชาธิปไตย คือให้การเมืองในระบอบรัฐสภาเดินได้ เพราะฉะนั้นมันต้องเปลี่ยนแปลง”


เนวินว่า “จะเอาเสียงที่ไหนมาเพียงพอ? พี่มีกี่เสียง?”


“ไม่เป็นไร คุณไม่ต้องสนใจว่าผมมีเท่าไหร่ คุณทำใจไว้ก่อนก็แล้วกันว่าคุณเอาด้วยไหม ไปด้วยกันไหม แล้วในใจคุณคิดว่าจะทำเพื่อชาติบ้านเมืองไหม หรือจะหัวปักหัวปำอยู่กับระบอบทักษิณ คุณก็ไปคิดเอาก็แล้วกัน”


สุเทพเชื่อว่าเนวินรู้สึกเคืองที่สมัคร สุนทรเวช ‘ถูกหักหลัง’ และวางไพ่ตรงจุดนี้
เนวินไม่ได้ให้คำตอบ


อย่างไรก็ตาม ขาเดินทางกลับจากกรุงลอนดอน นักการเมืองทั้งสอง ‘บังเอิญ’ โดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวกัน การสนทนาดำเนินต่อไป


กลับถึงไทยได้ไม่นาน พรรคพลังประชาชนก็ถูกศาลยุบ


สุเทพคุยกับสมาชิกระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์ว่า “เราจะตั้งรัฐบาล ให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ”


คนในพรรคหัวเราะ ไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ 


การเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนค่ายนั้น กระทำได้ในทางการเมือง แต่ในกรณีของประชาธิปัตย์กับขั้ว ทักษิณ ชินวัตร นั้นเข้าข่าย “เป็นไปไม่ได้” อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวน ส.ส. น้อยกว่าพรรครัฐบาล


แม้แต่ ชวน หลีกภัย บอกว่า “คุณสุเทพมาพูดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อมาขออนุญาตแบบนี้ พวกเราก็ไม่มีเงื่อนไขอะไรที่จะไม่อนุญาต”


แต่รอยร้าวระหว่าง เนวิน ชิดชอบ กับ ทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องการเสนอชื่อ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง ทำให้มันเป็นไปได้


ในโลกการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร


สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับอำนาจเต็มในการทำเรื่องนี้


สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นนักการเมืองผู้โชกโชนประสบการณ์ทางการเมือง วิธีต่อรองเจรจาของเขาคือยื่นข้อเสนอที่อีกฝ่ายปฏิเสธไม่ได้


กำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ เขียนในหนังสือ The Power of Change ว่า“อย่างน้อยที่สุดสิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับในตัวผมก็คือคำพูดของผมเชื่อถือได้ ผมเป็นคนพูดจริงทำจริง นี่คือต้นทุนของผม”


และ “เวลาเจรจาผมไม่เอาเปรียบใคร วิธีต่อรองเจรจาของผมก็คือ ผมไปยื่นข้อเสนอให้ชนิดที่เขาปฏิเสธไม่ได้ ข้อเสนอผมก็คือว่า พวกคุณที่เคยอยู่กับทักษิณนี่เคยบริหารงานกระทรวงไหนบ้าง ผมให้กระทรวงนั้นคุณเลย คุณพอใจไหมล่ะ ถ้าไม่พอใจตรงไหนมาเจรจาได้

 

อย่างเช่น คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน นี่ผมให้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ เขาแทบจะกระโดดกอดเอวผมเลย คุณสมศักดิ์ยังบอกว่า พี่สุเทพเขายื่นเงื่อนไขแบบที่ผมปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ผมก็ติดต่อให้เขาดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เขาถนัด อย่างนี้เป็นต้น”


สูตรจัดตั้งรัฐบาลของสุเทพคือ “ใครจะเอากระทรวงไหนก็เอาไป ขออย่างเดียวคือนายกรัฐมนตรีต้องเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”


เมื่อ เนวิน ชิดชอบ ตกลง ‘แต่งงาน’ กับประชาธิปัตย์ สุเทพก็ไปหา ผบ.ทบ. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา


นักการเมืองระดับลายครามเช่นสุเทพรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงขั้วการเมืองแบบนี้ “ทหารต้องเอาด้วย”


สุเทพถาม ผบ.ทบ. ตรง ๆ ว่า “รับได้ไหมถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล โดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี”


พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า “ทหารก็มีวินัยของทหาร ใครเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย กองทัพก็ไม่มีปัญหา”


ถึงนาทีนั้นเหลือ บรรหาร ศิลปอาชา เพียงคนเดียวที่ยังไม่ได้ตัดสินใจแต่งงานด้วย


บรรหารไม่เชื่อว่าทหารเอาด้วย สุเทพจึงบอกบรรหารว่า “เอาแบบนี้ก็แล้วกัน ผมจะนัดไปพบกับกองทัพเพื่อให้ทุกคนได้รู้ ให้คุณบรรหารได้มั่นใจ แต่ว่าคนอื่น ๆ ผมตกลงหมดแล้ว ตัดสินใจกันแล้ว เหลือคุณบรรหารคนเดียว”


สุเทพนัด บรรหาร ศิลปอาชา ที่กรมทหารราบที่ ๑ ไปพบ ผบ.ทบ. 


ไม่มีใครรู้รายละเอียดการคุยกันในวันนั้น รู้แต่ว่า “ดีล” รวมการขอให้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าการกระทรวงกลาโหม


วันนั้นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งถ่ายภาพสุเทพกับบรรหารเข้าไปในค่ายทหาร ก็เกิดข่าว “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” 


ด้วยไม้ตาย “ให้ทุกอย่าง” ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยกาวพิเศษที่เชื่อมพรรคต่าง ๆ เข้าด้วยกัน คือพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กลุ่มเพื่อนเนวิน และกลุ่มอื่น ๆ ด้วยคะแนนเสียงในสภา ๒๓๕ เสียง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๗ ของประเทศไทย


แน่นอน พรรคภูมิใจไทยของ เนวิน คว้ากระทรวงระดับเกรดเอไปครอง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


ฝ่ายทักษิณพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ทักษิณต่อสายคุยกับเนวิน แต่ เนวิน ชิดชอบ บอกนายเก่าว่า “มันจบแล้วครับนาย”


อย่างไรก็ตาม ทักษิณ เปิดเผยเรื่องนี้ในหนังสือ ทักษิณ Are You OK โดย สุณิสา เลิศภควัต (หมวดเจี๊ยบ) ว่าเขารู้นัดหมายลับระหว่างสุเทพ-เนวินในอังกฤษดี


การเมืองไทยจริง ๆ มักเกิดขึ้นจากการเจรจาที่ฉากหลัง เมื่อสถานการณ์เหมาะสม เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้


ประชาชนมีหน้าที่เพียงรับทราบ