“ข้าราชการบำนาญ”ใจชื้น “วิษณุ”ชี้ตัดลดบำเหน็จ-บำนาญไม่ได้ขัดกฎหมาย

06 มิ.ย. 2565 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2565 | 23:52 น.
22.9 k

“วิษณุ”ชี้ตัดลดบำเหน็จ-บำนาญ “ข้าราชการบำนาญ” ไม่ได้กระทบสิทธิ์ข้าราชการ ขัดกฎหมาย เว้นแต่ต้องไปแก้กฎหมายเสียก่อน

วันนี้(6 มิ.ย.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 วงเงินงบประมาณสำหรับ “ข้าราชการบำนาญ” สูงเกินไปว่า แล้วแต่กรรมาธิการร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จะพิจารณาอย่างไร 


แต่สำหรับเงินบำเหน็จ บำนาญ เป็นผลจากกฎหมายที่เขียนเอาไว้ เมื่อทำราชการมาจนถึงเวลาก็ต้องได้บำเหน็จ บำนาญ ส่วนที่มองว่ามากไปอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ แต่จะแปรญัตติตัดกันจนกระทบกับสิทธิ์ทางกฎหมายของผู้ได้รับเงินบำเหน็จ บำนาญ คงไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อเสนอแนะให้แก้กฎหมายก็อีกเรื่องหนึ่ง 
ตัวเลขที่สูงนั้น เมื่อข้าราชการมากขึ้น วงเงินก็มากขึ้น และรัฐบาลคิดสิ่งเหล่านี้มาตลอด เราจึงยังไม่คิดเรื่องเออรี่ รีไทร์ เพราะจะเป็นภาระงบประมาณ 

รวมถึงความคิดเกี่ยวกับการขยายอายุการเกษียนราชการ เดิมมีการคิดก่อนจะมีสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะขยายจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ในล็อตแรก และล็อตที่สอง จาก 63 ปี เป็น 65 ปี จะทำให้ไม่ต้องจ่ายบำนาญ แต่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 จึงหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน


“เรื่องนี้อยู่ในแผนปฏิรูป จะทำให้ชะลอการจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญได้ แต่ เพราะโควิดทำให้คิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะคนต้องการเงิน และต้องการออกจากระบบราชการโดยเร็ว และยืนยันว่าวงเงินบำนาญในพ.ร.บ.งบประมาณฯยึดตามหลักเหตุผล แต่ที่มองว่า ไม่สมเหตุสมผล คงต้องไปดูในเรื่องของกฎหมายที่จ่ายเงิน หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องแก้กฎหมาย”

เมื่อถามว่าถ้ากรรมาธิการฯ มีการปรับลดจะกระทบขวัญ กำลังใจข้าราชการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าในที่สุดได้ปรับลดจริงก็จะกระทบ แต่ที่บางท่านเสนอนั้น ก็ใช่ว่า คนอื่นจะเห็นด้วยคงต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเป็นการจ่ายเงินบำนาญตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถปรับลดงบประมาณส่วนนี้ได้ใช่หรือไม่  นายวิษณุ ตอบว่า ตนยังคิดไม่ออกว่า จะปรับลดอย่างไรที่ไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย


“เรื่องตัดบำเหน็จ บำนาญ ทีแรกคุณพิธาพูด อาจไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น แต่พอมีคนไปขยายความว่า จะตัด ต่อมาพรรคก้าวไกลเขาก็ออกมาแถลงว่า ไม่ได้คิดจะตัด และจะตัดได้อย่าง เพราะทุกอย่างจ่ายไปตามกฎหมาย แต่ถ้าคิดจะแก้กฎหมาย ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างนั้นได้ สมมติทำราชการ 10 ปี ออกแล้วได้บำเหน็จ ทำราชการ 25 ปี ออกแล้วได้บำนาญ หากขยายกรอบเวลาเหล่านี้ก็แล้ว แต่ต้องไปแก้กฎหมายเสียก่อน” นายวิษณุ ระบุ