เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรธน.มติเอกฉันท์ฟัน สำลี รักสุทธี พ้นส.ส.ภูมิใจไทย

01 มิ.ย. 2565 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 00:04 น.
2.0 k

ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ฟัน “สำลี รักสุทธี” พ้นส.ส.ภูมิใจไทย มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 24 มี.ค. 62 เหตุต้องคำพิพากษาถึงที่สุดกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริต เข้าข่ายรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัครส.ส.

วันนี้ (1 มิ.ย.65) ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) ของ นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดมหาสารคามในคดีหมายเลขดำที่ อ.4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่อ.13 4/2562 กรณีนายสาลีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา


โดยศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเคยต้องกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา 

ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดความผิดฐานเป็นผู้นำเข้า ผู้ผลิต  ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบการค้ามนุษย์หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ในความผิดฐานฟอกเงินบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะต้องห้ามบางประการของบุคคล เพื่อไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส.


 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันจะเป็นหนทางในการใช้ตำแหน่งอำนาจและหน้าที่ของฝ่ายการเมืองกระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบได้โดยง่าย บุคคลที่จะเป็นส.ส.ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณสมบัติเป็นที่น่าเชื่อถือในทุกด้านปราศจากมลทินมัวหมอง  

ในส่วนของความผิดนั้น บทบัญญัติมาตรา 98 (10) ยึดถือคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า ได้กระทำผิดเป็นสำคัญโดยไม่ได้คำนึงถึงว่า มีเหตุบรรเทาโทษ หรือได้รับการลดโทษหรือไม่ หรือมีการล้างมลทินอภัยโทษหรือไม่ ซึ่งตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสรุปได้ว่า 


เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ศาลจังหวัดมหาสารคาม มีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่อ.13 4/2562 นายสาลีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วรรคหนึ่ง (1)(3) วรรคสองประกอบมาตรา 136 ทวิ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา และคดีนี้พ้นระยะอุทธรณ์ตามกฎหมาย ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ตามหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดของศาลจังหวัดมหาสารคามลงวันที่ 16 ก.ย.2564 ต่อมานายสาลี เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

                                       เปิดละเอียดคำวินิจฉัยศาลรธน.มติเอกฉันท์ฟัน สำลี รักสุทธี พ้นส.ส.ภูมิใจไทย
ข้อโต้แย้งที่ นายสำลี อ้างว่าการกระทำความผิดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่นนั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) มีเจตนารมณ์ให้ยึดถือคำพิพากษาศาลอันเป็นที่สุดว่าได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) เป็นสำคัญ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 บัญญัติว่า ผู้ใดเอาทรัพย์สินของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นรวมเป็นเจ้าของอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ 


ต้องระวางโทษมาตรา 335 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าผู้ใดลักทรัพย์ (1) ในเวลากลางคืน (3) สำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ วรรคสองบัญญัติว่า ถ้าการกระทำผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำความผิดที่ประกอบด้วยลักษณะตามที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ 2 อนุมาตราขึ้นไป ผู้ทำต้องระวางโทษ มาตรา 336 ทวิ บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 334 ,335 ,335 ทวิ หรือ 336 โดยแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหาร ตำรวจ หรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารตำรวจ หรือใช้อาวุธปืน ระเบิด ยานพาหนะ ไปกระทำความผิดโดยการพาทรัพย์นั้นไป เพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง 


ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น


 ดังนั้น เมื่อนายสำลี เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) 

 

นอกจากนี้ ศาลยังมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า กรณีดังกล่าวทำให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายสำลี สิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มี.ค. 2562 เนื่องจากศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่อ.13 4/2562 ที่นายสำลี กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และพ้นระยะเวลาอุทธรณ์อันเป็นทำให้คดีถึงที่สุด 
เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนนายสำลี สมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายสำลี จึงทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ก่อนแล้วว่า ในวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ตนเองมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเหตุต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา 


เมื่อนายสำลี ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง อีกทั้งรู้อยู่แล้วว่าตนมีลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว แม้ต่อมาจะได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 100 บัญญัติให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เริ่มนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง สมาชิกภาพส.ส.ของนายสำลี จึงสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 


และเมื่อสมาชิกภาพส.ส.ของ นายสำลี สิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่างลง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประการให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เป็นส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประการในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังคือวันที่ 1 ม.ค.2565

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนศาลอ่านคำวินิจฉัย ได้แจ้งว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องของนายสำลี ที่ให้ขอให้เลื่อนการอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ เนื่องจากติดภารกิจร่วมงานฌาปนกิจศพญาติ ซึ่งศาลเห็นว่า ไม่มีเหตุอันสมควรจึงให้ยกคำร้อง