ร้อง“ฝ่ายค้าน-เศรษฐกิจไทย”สอบกรรมการป.ป.ช.คดีปาล์มอินโดฯ

01 พ.ค. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2565 | 17:22 น.

"หญิงชาวอินโดฯ" บุกร้อง "ฝ่ายค้าน-เศรษฐกิจไทย" สอบกรรมการป.ป.ช.ปมคดีปาล์มอินโดฯ หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม กลัวถูกกลั่นแกล้งเหตุพยานหลักฐานไม่โปร่งใส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยาและประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย รับหนังสือขอความเป็นธรรมจาก นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา ชาวอินโดนีเชีย ซึ่งต้องการขอให้พรรคเพื่อไทย(พท.) ตรวจสอบการทำงานของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 


โดยขอให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อร่วมกันยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้ไต่สวน ป.ป.ช. ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระว่ามีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นางแนนซี่ ในฐานะอดีตประธานหอการค้าอินโดนีเชีย เพื่อคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินโดนีเชีย หรือ KHITA ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในสำนวนคดีของ ป.ป.ช. กรณีที่มีการไต่สวนโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเชีย ของบริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีและประธานอนุกรรมการไต่สวน จนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและเสื่อมเสียชื่อเสียง โดย น.ส.แนนซี่ มีข้อสงสัยในสำนวนหลักฐานหลายอย่างและกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

                               นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา ขอให้พรรคเพื่อไทย ตรวจสอบการทำงานของกรรมการป.ป.ช.

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งหมายที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเอื้ออำนวยต่อการสร้างความยุติธรรมอย่างโปร่งใสให้สังคมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

“แม้ที่ผ่านมาองค์กรอิสระจะถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความอิสระและความยุติธรรมอย่างมากก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวนี้พรรคเพื่อไทยจะรับเรื่องเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการของพรรคต่อไป” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยระบุ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากร้องเรียนผ่านพรรคเพื่อไทยแล้ว นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา ในฐานะผู้กล่าวหาและผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ยังได้เดินทางไปร้อง พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคประชาชาติ และ พรรคร่วมฝ่ายค้าน

 

เพื่อร้องขอสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 เข้าชื่อกล่าวหาให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 , 200  และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพ.ศ.2560 มาตรา 4 , มาตรา 25 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172  มาตรา 177(3) , (4) ,มาตรา 183 อาทิ 


 กรณีเจตนาละเว้นไม่มีการไต่สวนกลุ่มบุคคลที่ทุจริตขายโครงการ PT.KPI ในราคาต่ำและขาดทุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบันบันเป็นระยะเวลานานกว่า 9 ปี  ทั้งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องและนางแนนซี่ ได้ส่งเอกสารให้กับ คณะกรรมการป.ป.ช.ครบถ้วน นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือยื่นต่อศาลและหลอกลวงศาลเป็นเหตุให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิด กับพวกไม่ต้องได้รับโทษในทางอาญา


กรณีปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐานสำคัญแห่งคดี ที่นางแนนซี่ 


กรณีกลั่นแกล้ง ใส่ความนางแนนซี่ ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด โดยใช้จดหมายฉบับวันที่ 14 มกราคม 2556 ที่มีข้อความอันเป็นเท็จเอามาเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี 


กลั่นแกล้งใส่ความนางแนนซี่ ว่าเป็นผู้สนับสนุนการจัดหาที่ดินของ บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ทำให้ บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นความเท็จ 
ความจริงแล้ว ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เลย ในทางกลับกัน ผู้ที่ทำให้ บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้รับความเสียหาย คือกลุ่มบุคคลที่ขายโครงการ PT.KPI ในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาดและต่ำกว่าราคาที่มีผู้เสนอซื้อ 


กรณีกลั่นแกล้ง นางแนนซี่ เดินทางไปไต่สวนพยานที่ประเทศอินโดนีเซียโดยมิชอบในเดือนสิงหาคม 2560 


พร้อมระบุว่า นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ แต่เมื่อ นางสาวสุภา ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป.ป.ช.เมื่อ วันที่ 9 เมษายน 2557 จึงต้องถือว่า นางสาวสุภาฯ รับราชการใน       ตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ เพียง 4 ปีเศษเท่านั้น 

จึงขัดกับคุณสมบัติในการเป็นกรรมการป.ป.ช ตามมาตรา 232(2) ที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนและต้องบังคับใช้อย่างเคร่งครัดว่า รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. 

 

นางแนนซี่ มาร์ตาสุตา ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อองค์กรอิสระเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง และศาลไม่อาจให้ความยุติธรรมได้ จึงได้เดินทางไกลมาจากประเทศอินโดนีเซียเพื่อมาขอความกรุณาให้ ส.ส.ที่มาจากประชาชน พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคเข้าชื่อเพื่อดำเนินคดีอาญาและดำเนินการตามกฎหมาย และตนจะนำเรื่องดังกล่าวที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และ ประธานศาลฎีกาต่อไป