“ชัชชาติ” กับไอเดียเมกะโปรเจ็กต์ ย้อนผลงานเด่นก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

01 เม.ย. 2565 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 17:49 น.
3.6 k

ย้อนไปดูไอเดียการทำแผนเมกะโปรเจกต์ ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2565 ไปดูกันว่า แผนงานโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ มีอะไรโครงการที่น่าสนใจ ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 8 ในนามอิสระ ยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลโพลของสำนักต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของสมญา “บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล” มีรายชื่อเป็นอันดับที่หนึ่งมาโดยตลอด กับบุคคลที่ประชาชนคิดว่าจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ 

 

ด้วยภาพลักษณ์ของ “ชัชชาติ” ซึ่งติดตามาตั้งแต่ครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยถูกยกให้เป็นรัฐมนตรีติดดิน เพราะเคยทั้งซ้อนจักรยานยนต์รับจ้าง นั่งรถสองแถว ขึ้นรถไฟออกตรวจราชการในพื้นที่ต่าง ๆ และหลายครั้งที่ไปตรวจงานในองค์กรของรัฐโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมักมีผู้พบเห็น “ชัชชาติ” ในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ป้ายรถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า และท่าเรือ พร้อมกับถ่ายรูปมาโชว์ และแชร์กันอย่างสนั่นหวั่นไหวในสังคมออนไลน์ ลบภาพของรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ ที่มักมีข้อครหาเรื่องใช้งบประมาณสูง กลับอยู่ในความสนใจของใครหลายคนอีกครั้ง  

 

แม้การนั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่จะอยู่แค่ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่งานหลายอย่างก็ฝากเป็นผลงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจกต์ ซึ่งในช่วงนั้นเวลาใครเจอ “ชัชชาติ” มักจะสอบถามและได้ยินการพูดถึงการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ผ่านแผนสร้างอนาคตไทย 2020 มาโดยตลอด 

สำหรับแผนการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศครั้งนั้น มีทั้งการทำรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสารพัดสาย รถไฟทางคู่ โครงข่ายทางถนน และการขนส่งทางน้ำ แต่สุดท้ายแผนงานทั้งหมดก็ถูกพับไปหลังจากผลักดันพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ออกมาไม่สำเร็จ แผนการทำโครงการทั้งหมดจึงถูกแช่เอาไว้เป็นพิมพ์เขียวอยู่ในขณะนั้น 

 

อย่างไรก็ตามแม้โครงการจะไม่สามารถผลักดันออกมาได้สำเร็จ แต่ปัจจุบันบางโครงการที่อยู่แผนก็ถูกผลักดันออกมาบ้างแล้ว ซึ่งในทุกวันที่ 11 มีนาคม จะมีการระลึกถึงเรื่องนี้บนโพสต์ของ “ชัชชาติ” พร้อมกับแชร์ข้อมูลของแผนต่าง ๆ จนถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 7 ปีแล้ว

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ลองไปย้อนดูแผนงานนี้ ซึ่งเป็นผลงานเด่นของ “ชัชชาติ” และเป็นไอเดียสำคัญกับการผลักดันเมกะโปรเจกต์ ซึ่งระบุไว้ดังนี้ 

 

สร้างอนาคตไทย 2020 พลิกโฉมประเทศอย่างไร จึงขออธิบายรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ในแต่ละยุทธศาสตร์ที่ทางกระทรวงคมนาคม เตรียมไว้ซึ่งมีดังนี้

  • รถไฟความเร็วสูง 783,553 ล้านบาท คิดเป็น 39.2%
  • รถไฟฟ้า 456,662 ล้านบาท คิดเป็น 22.8%
  • ถนนทางหลวง 241,080 ล้านบาท คิดเป็น 12.1%
  • ถนนทางหลวงชนบท 34,309 ล้านบาท คิดเป็น 1.7%
  • สถานีขนส่งสินค้า 14,093 ล้านบาท คิดเป็น 0.7%
  • ท่าเรือ 29,581 ล้านบาท คิดเป็น 1.5%
  • ด่านศุลกากร 12,545 ล้านบาท คิดเป็น 0.6%
  • ปรับปรุงระบบรถไฟ (เพิ่มเครื่องกั้น ซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย) 23,236 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%
  • รถไฟทางคู่ และทางคู่เส้นทางใหม่ 383,891 ล้านบาท คิดเป็น 19.2%
  • ค่าสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ความผันผวนราคาวัสดุ การติดตามและประเมินผล) 21,050 ล้านบาท คิดเป็น 1.0%

 

“ชัชชาติ” ระบุว่า โครงการใน พ.ร.บ.สร้างอนาคตประเทศนี้ ไม่ได้มีแต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกทม. ถนนสี่เลน ด่านศุลกากร ศูนย์กระจายสินค้า มอเตอร์เวย์ บูรณะถนนสายหลัก ถนนเชื่อมประตูการค้า ท่าเรือ สะพานข้ามทางรถไฟ โดยกระจายอยู่ในทุกๆด้าน และ อยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ตามความจำเป็นและยุทธศาสตร์ของประเทศ

 

โครงการเหล่านี้ ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ แต่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) หัวข้อ 5.3.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ การปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งในเมือง และเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

 

สำหรับสิ่งที่จะได้จากโครงการนี้ ที่ทางรัฐบาลคาดหวังไว้คือ

  1. ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากปัจจุบัน (ที่ 15.2%) ไม่น้อยกว่า 2%
  2. สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคล ลดลงจาก 59% เหลือ 40%
  3. ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 39 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และขบวนรถโดยสาร เพิ่มขึ้นจาก 60 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม.
  4. สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5%
  5. สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 18%
  6. ความสูญเสียจากน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี
  7. สัดส่วนการเดินทางโดยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 30%
  8. ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 5%
  9. ปริมาณผู้โดยสารรถไฟ เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/เที่ยว/ปี เป็น 75 ล้านคน/เที่ยว/ปี
  10. ลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม. ไปยังเมืองภูมิภาค ด้วยรถไฟความเร็วสูงภายในรัศมี 300 กม. รอบกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาไม่เกิน 90 นาที จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 3 ชั่วโมง