ก้าวไกล บี้รัฐกล้ายอมรับ"ถังแตก" อุ้มราคาน้ำมันไม่ไหว

09 มี.ค. 2565 | 14:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 22:09 น.

‘ศิริกัญญา’ บี้ รัฐบาลกล้ายอมรับ ‘ถังแตก’ อุ้มราคาน้ำมันไม่ไหว แนะเปลี่ยนเป็นหนุนค่าครองชีพโดยตรง มุ่งเป้าช่วย ‘ผู้มีรายได้น้อย’

วันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลต่อค่าครองชีพและรายได้ประชาชนอย่างมหาศาล ผ่านราคาพลังงานที่พุ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ราคาอาหารสัตว์-ปุ๋ย ขยับขึ้น และจะส่งต่อมาที่อาหารสด ส่วนรายได้จากภาคท่องเที่ยวหยุดจะชะงักเพราะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียลดลง

 

“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่สินค้าแพงขึ้นจนอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. พุ่งขึ้นเป็น 5.3% สูงสุดในรอบ 13 ปี วิกฤตระลอกใหม่กำลังก่อตัวขึ้นอันเป็นผลมาจากสงครามและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซีย ซึ่งจะส่งให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก จากราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายหลักให้กับทวีปยุโรป

ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อสั่งการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนยุโรปประกาศลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะขึ้นไปสูงถึง 185$/bll (JP Morgan) บางแห่งประเมินว่าจะขึ้นไปถึง 200$/bll เช่น แบงค์ออฟอเมริกาหรือบาร์เคลย์

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล

“นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลี (29%) และข้าวโพด (19%) ถือเป็นแหล่งใหญ่อันดับต้นๆของโลก ขณะนี้ราคาของทั้งสองตัวกำลังปรับขึ้นสูงมาก ข้าวสาลีราคาขึ้นมาเกือบ 2 เท่า ข้าวโพดเพิ่มขึ้น 50% ตอนนี้วัตถุดิบเริ่มส่งสัญญาณขาดตลาดแล้วในประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายต้นทุนก็จะมาตกกับเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์และส่งต่อไปที่ราคาอาหารอย่างเนื้อสัตว์และไข่

“รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฟอสเฟตและโปแทส ตอนนี้รัฐบาลรัสเซียประกาศแบนการส่งออกปุ๋ยเคมี ย่อมซ้ำเติมกับต้นทุนราคาปุ๋ยของเกษตรกร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรขายได้แพงขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนต้นทุนสินค้าเกษตรที่ใช้ในการคำนวณราคาประกันตามโครงการประกันรายได้ เพื่อให้ราคาประกันที่เกษตรกรได้รับ สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” 

.
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ภาคท่องเที่ยวที่กำลังจะฟื้นก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากรัสเซียเข้ามามากเป็นอันดับ 1 หลังเปิดประเทศ แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการถอนเงินจากธนาคารใหญ่ในรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรทำได้ยาก ผู้ประกอบการจึงเกิดความกังวลว่าจะไม่ได้รับเงิน แม้ทาง ททท.จะมีขอเสนอให้กับ ครม.แล้ว แต่กลับไม่ปรากฏแนวทางปฏิบัติออกมาจาก มติครม.เมื่อวานนี้ ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 



“กลับมาที่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ เรื่องราคาพลังงาน ถึงจุดนี้ รัฐบาลต้องกล้าออกมายอมรับความจริงกับประชาชนได้แล้ว ว่าไม่มีทางรักษาสัญญาที่ว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้ ปัจจุบันต้องใช้ทั้งสภาพคล่องจากกองทุนน้ำมันรวมกับภาษีสรรพสามิตราว 9.50 บาท คิดเป็นต้นทุนต่อเดือนราว 17,000 ล้านบาท เพื่อกดราคาดีเซลทุกลิตรที่จำหน่าย

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล

หากสถานการณ์ยืดเยื้อ และราคาน้ำมันดิบยังแพงขึ้นเรื่อยๆ สมมติว่าตลอดปีนี้ ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 $/bll อาจจะต้องใช้เงินมากกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อราคาน้ำมันเพียงชนิดเดียว หากจะลดภาษีสรรพสามิตต่อ ก็อาจจะกระทบกับงบประมาณ ทุกๆ 1 บาทที่ลด หรือเท่ากับ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน

 

“คำถามคือรัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน ในเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ใน มาตรา 26 กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท ตอนนี้ขอวงเงินไว้กับ ครม. 30,000 ล้านบาท แต่ยังกู้ไม่ได้” 


น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เงินกองทุนในบัญชีน้ำมันและบัญชีก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนไหลออกเดือนละ 13,000 ล้านบาท ในขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุนเดือนละ 5,000 ล้านบาท โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ 21,838 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 4,988 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 26,826 ล้านบาท อย่างไรเสียก็ไม่น่าจะเพียงพอที่จะอุ้มดีเซลต่อไป หากจะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อขยายกรอบเงินกู้ ก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ



ขณะนี้รัฐบาลเดินมาถึงทางตันแล้ว ไม่มีเงินพออุ้มราคาน้ำมันได้อีก พรรคก้าวไกล จึงมีข้อเสนอเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพสูงจากราคาน้ำมัน ดังนี้ 

1. รัฐบาลต้องยอมรับกับประชาชนตรงไปตรงมา ว่าด้วยงบประมาณที่มี ‘รัฐถังแตก’ แล้ว ไม่มีเงินพออุดหนุนราคาน้ำมันต่อในระยะยาว 
 

2. ต้องเปลี่ยนจากการอุ้มราคาน้ำมันแบบเหมารวมทั้งประเทศ มาเป็นการอุดหนุนค่าครองชีพโดยตรงให้ประชาชน ช่วยทั้งผู้ใช้เบนซินและดีเซล มุ่งเป้าคนรายได้น้อย โดยเติมเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมกับต้องขยายสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะมีคนจนเพิ่มจำนวนมากจากสภาวะเศรษฐกิจในเวลานี้ แต่ยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

3. นำเงินไปอุดหนุนตรงให้กับขนส่งสาธารณะและภาคโลจิสติกส์ เช่น กลุ่มรถบรรทุก เพื่อใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกลุ่มเป้าหมาย 


“เราต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน มองการณ์ไกล รวมถึงต้องกล้ายอมรับ กล้าพูดความจริงกับประชาชน” ศิริกัญญา ระบุ