ปิดตำนาน “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวัย 96 ปี

28 ก.พ. 2565 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2565 | 23:08 น.

“พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่รพ.ศิริราช รวมอายุ 96 ปี

วันนี้(28 ก.พ.65) มีรายงานว่า นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และ อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเข้ารับการรักษาด้วยอาการป่วยมะเร็งปอด ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช 


สำหรับ พิชัย รัตตกุล เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดพระนคร รวมอายุ 96 ปี
พิชัย เป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งบรรพบุรุษได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นบุตรของ นายพิศาล กับ นางวิไล รัตตกุล

พิชัย รัตตกุล เป็นบุตรคนโต จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย


นายพิชัย รัตตกุล


ร้อยตรี ไพโรจน์ รัตตกุล (สมรสกับ นางประพันธ์ศรี ลีลานุช)

 

นายแพทย์ ปราโมทย์ รัตตกุล


นางสาว ยุพิน รัตตกุล


นางสาว สุภาพรรณ รัตตกุล


นาง ยุพยงค์ รัตตกุล (สมรสกับ นาย Harry Studhalter)


คุณหญิง สุภัจฉรีย์ ภิรมย์ภักดี (สมรสกับ นายจำนงค์ ภิรมย์ภักดี)


นาง ยุพเรศ เที่ยงธรรม (สมรสกับ นายสุนัย เที่ยงธรรม)


นาย แสนดี รัตตกุล (สมรสกับ นางสุพรรณี เอี่ยมสกุลรัตน์)


พิชัย จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จากนั้นจึงไปศึกษาต่อด้านพาณิชยศาสตร์ที่โรงเรียนเซนต์สตีเฟ่น ที่ฮ่องกง หลังจบการศึกษาแล้วได้กลับมาดูแลธุรกิจของครอบครัว ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเมือง

ชีวิตครอบครัว

 

สมรสกับ คุณหญิงจรวย รัตตกุล (สกุลเดิม ศิริบุญ) มีบุตรชาย 2 คนคือ ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล บุตรสาว 1 คนคือ คุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ (สมรสกับ ดร.วีระนนท์ ว่องไพฑูรย์)


ด้านงานการเมือง


พิชัย รัตตกุล เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี  2501 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็น ส.ส.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาไม่นาน นายพิชัยได้เป็น 1 ใน 100 ของบุคคลที่ลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็น 1 ใน 4 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่ลงชื่อในคราวนั้น (อีก 3 คนคือ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์, นายเทพ โชตินุชิต, นายชวลิต อภัยวงศ์) พิชัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี  2516

                                           พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พิชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย 


ต่อมาในปี 2519 ได้รับแต่งตั้งอีกครั้ง จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก และได้รับแต่งตั้งอีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่


พิชัย รัตตกุล ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2525 หลังจากการครบวาระของ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนั้นได้ร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง นายพิชัย ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ในปี 2529 


จากนั้นในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายพิชัย และ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในวาระแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี แต่ในวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายพิชัย และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภา ฯ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดสภาพการเป็นเผด็จการรัฐสภา

                                           พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ในวาระของการเป็นหัวหน้าพรรคของ พิชัย รัตตกุล นั้น ได้มีเหตุการณ์ความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้น เมื่อ "กลุ่ม 10 มกรา" ที่นำโดย วีระ มุสิกพงศ์ ได้ลาออกจากพรรคไป เนื่องจากความขัดแย้งกันในแต่งตั้งหัวหน้าพรรค


จากนั้น เมื่อ นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 พิชัย ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับต่างประเทศ และรับผิดชอบการจัดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 1998 และได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย 


หลังจากนั้นไม่นาน พิชัย ได้วางมือจากการเมือง เนื่องจากมีอายุที่มาก จนได้รับฉายาว่า "คุณปู่" แต่ยังมีตำแหน่งเป็นสภาที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์อยู่


ในแวดวงสังคม พิชัย รัตตกุล มีตำแหน่งเป็นประธานสโมสรโรตารีในประเทศ และเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานสโมสรโรตารีสากลในระหว่างปี  2545 – 2546

 

*** ขอบคุณข้อมูลประวัติจากวิกิพีเดีย